วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอื้องสายม่วง สายครั่งยาว Dendrobium lituiflorum

  เอื้องสายม่วง สายครั่งยาว Dendrobium lituiflorum



        เอื้องสายม่วง บางท่านเรียกกันว่า สายครั่งยาว มีแหล่งกระจายพันธุ์ใน ไทย พม่า ลาว และ อินเดีย ขึ้นอยู่บนความสูงที่ระดับ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ในประเทศไทยมีบันทึกไว้ว่าพบ สายม่วง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณป่าดิบและป่าสนเขา สำหรับสีสันของ สายม่วง นั้น มีทั้งสีม่วงเข้มไปจนถึงม่วงอ่อน ๆ บางครั้งเรามักพบ สายม่วง ที่มีปากเป็นสีเหลืองหรือดำ แทนที่จะเป็นสีม่วงเข้มแทน
      เช่นเดียวกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ สายม่วง จะผลัดใบทิ้งเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว และพักตัวอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ถึงจะมีดอกให้ชม นับว่าเใช้วลาพักตัวอยู่นานถึง 2 - 4 เดือนเลยทีเดียว
      สำหรับ สายม่วง ของผมนั้น จะเริ่มทยอยทิ้งใบในช่วงเดือน 11 และพักตัวยาวไปจนถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ ในช่วงเดือนนี้เอง ที่ สายม่วง เริ่มปรากฏตาดอกเห็นได้ชัดขึ้น ตาดอกนี้จะใช้เวลานานมากทีเดียวกว่าจะกลายเป็นช่อดอกเล็ก ๆ ชูทรวดทรงออกมา เมื่อเริ่มเข้าสู่กลางเดือน มีนาคม สายม่วง จะเริ่มแทงช่อตูมออกมาจากลำแต่ละข้อ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นพร้อมเบ่งบานในช่วงเดือน เมษายน ต้อนรับฤดูกาลแห่งคิมหันต์ ดอกของ สายม่วง นั้นมีกลิ่นหอมเบา ๆ แต่ชวนให้หลงไหลและเย้ายวน
     ปัจจัยการทิ้งใบของ สายม่วง นั้น ยังพบด้วยว่าความชื้นและการให้น้ำมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับสายอื่น ๆ หากเราให้น้ำมาก อัตราการทิ้งใบจะช้ากว่ากำหนด และหากไม่ให้หรือปล่อยแห้งเพียงวันถึงสองวัน ไม้สายจะทิ้งใบลง กราว กราว อย่างรวดเร็ว จนน่าตกใจ แต่นั่นก็เป็นข้อดี คือ เราก็จะได้เห็นดอกเร็วขึ้น นั่นเอง


การเลี้ยง เอื้องสายม่วง
          จากการเลี้ยงดู สายม่วง หลาย ๆ ต้นพบว่า สายม่วง เป็นหวายที่ไม่ชอบเครื่องปลูกที่อมน้ำไว้มาก และทำให้แฉะตลอดวันอย่าง สเฟกนั่มมอส หรือ รากชายผ้าสีดา นั้นก็เพราะ สายม่วง ชอบแห้งมากกว่าชื้นเสียอีก โดยการทดลองปลูกที่ผ่านมา พบว่า การปลูก สายม่วง ลงในกระถางพลาสติกโดยใช้เครื่องปลูกเป็นรากชายผ้าทั้งหมดนั้น สายม่วงจะเติบโตได้ไม่ค่อยดี และดูไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อเทียบกับ สายม่วง ที่ใช้เครื่องปลูกเป็น รากชายผ้า 20% และ ถ่าน 80% ซึ่งได้ผลดีทีเดียว ดังนั้นการปลูก ควรให้เครื่องปลูกที่เป็นวัสดุกับเก็บความชื้นสูงอย่าง สเฟกนั่มมอส กาบมะพร้าว หรือรากชายผ้า ในปริมาณที่ 20-30% และที่เหลือเป็นถ่านหรือเศษไม้แทน ห้ามเด็ดขาดคือ มะพร้าวตุ้ม เพราะมะพร้าวตุ้มจะทำให้รากของ สายม่วง ขาดอากาศหายใจตายได้ครับ *อย่าลืมว่าเป็นรากแบบกึ่งอากาศ ปริมาณของแสงที่ควรได้รับของ สายม่วง นั้นควรอยู่ที่ 40-60% ช่วงเวลาต้องห้ามที่ไม่ควรได้รับแสงจากดวงอาทิตย์เต็ม ๆ คือช่วง หลัง 11 โมงไปจนถึง บ่าย 2 ครึ่ง เพราะแสงแรงมาก ไม่ว่ากล้วยไม้ต้นไหน ๆ ก็ทนไม่ได้ ยกเว้น ช้างน้าวและจำพวกทนแดดเท่านั้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น