วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอื้องหนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )




                                                เอื้องหนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )

หนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )
     หนวดพราหมณ์ แต่เดิมเป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในสกุลของกุหลาบ Aerides และถูกเปลี่ยน เป็นสกุล Seidenfadenia ในภายหลัง
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Seidenfadenia ซึ่งได้รับการตั้งชื่อให้เป็นเกรียติ์แด่ ท่าน Gunnar Seidenfaden ชาวเดนมาร์ก อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และเป็นผู้ทำการศึกษา และตีพิมพ์ผลงานวิชาการเกี่ยวกับ กล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานของท่านเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย พืชวงศ์กล้วยไม้ ส่วนคำระบุชนิด mitrata แปลว่าที่สวมศีรษะหรือหมวกทรงสูงสำหรับพระในคริสต์ศาสนา ซึ่งอาจหมายถึงลักษณะโดยรวมของเส้าเกสรที่ดูคล้ายกับที่สวมศรีษะนั่นเองครับ 
     ในประเทศไทยเราสามารถพบกล้วยไม้ หนวดพราหมณ์ ได้ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 350 - 1,500 ม. ด้วยลักษณะของใบที่ห้อยยาวลงมาจากคาคบไม้สูงมองดูราวกับเส้นผมของนักพรตที่สกปรกรุงรังจึงมีเรื่องเล่าอันน่าพิศวงต่อ ๆ กัน ว่ากันว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งที่ตกใจวิ่งออกมาจากป่าภายหลังออกหาเก็บของป่าพร้อมกับเสียงตื่นตระหนกว่าพบกับผีพลายตนหนึ่งในป่ายามพลบค่ำ ชาวบ้านต่างตื่นตกใจเกรงว่าผีพลายจะมาทำร้ายเด็ก ๆ ใน หมู่บ้านจึงได้ปรึกษาและได้ออกตามหาผีพลายตนดังกล่าวเพื่อใช้วิธีทางศัยศาสตร์เข้าจัดการ แต่เมื่อเดินทางไปยังจุดที่เคยพบกับผีพลาย สิ่งที่ชาวบ้านพบมีเพียงต้นไม้ที่หักลง บนตอที่หักโค่นนั่น มีกอ ขนาดใหญ่ของต้นกล้วยไม้ที่กำลังแทงช่ออวดเบ่งดอกขนาดเล็กสีชมพูชูของมันบนก้านช่อทรงสวยงาม ราวกับช่อของดอกไม้ที่ถูกประดับประดาบนแจกันขนาดใหญ่ ใบของดอกไม้มีทรวดทรงยาวยุ้งเหยิง เมื่อถูกลมพัด ใบของมันก็พริ้วไหวไปตามสายลม มองดูราวกับเส้นผมของคนไม่ผิดเพี้ยน ข้อสงสัยเรื่องผีพลายของชาวบ้านจึงถูกไขออก กล้วยไม้ชนิดนี้จึงได้ชื่ออีกนามว่า "เอื้องผมผีพลาย"
นอกจากนี้ หนวดพราหมณ์ ยังมีชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ อีกว่า เอื้องผมเงือก และ เอื้องกุหลาบสระบุรี ซึ่งก็ได้รับการตั้งชื่อตามความเรื่องเล่าและแหล่งที่พบตามลำดับ 
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เลี้ยงง่าย เนื่องจากชอบอากาศร้อนจึงสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปยังจังหวัดปทุมทานี และได้แวะเข้าไปยังส่วนของ นวนคร พื่นที่ที่ผมได้ไปเยือนส่วนใหญ่เป็นตึกสูงของหอพักเสียส่วนใหญ่ และบนห้องพักของตึกตึกหนึ่งผมก็ได้พับกับ หนวดพราหมณ์ กอสวยที่กำลังออกดอกสวยงาม ซึ่งคาดว่าเจ้าของคงได้นำไปปลูกประดับไว้ตรงบริเวณริมระเบียง น่าเหลือเชื่อ ที่กลางเมืองตึกสูงอากาศร้อนอบอ้าวเพียงนั้น หนวดพราหมณ์ ก็สามารถแตกกอสวยงามได้ นับได้ว่า หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและให้ดอกได้อย่างง่ายดายครับ

ลักษณะของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยลำต้นยาว 3-5 ซม.รากจำนวนมากออกที่โคนต้น ลักษณะอวบยาวใบจำนวน 3-5ใบ รูปทรงกระบอกยาวสีเขียวเข้ม ปลายเรียวแหลมเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนกว้างสุดประมาณ 0.5 ซม. ยาว 10-40 ซม. ใบของ หนวดพราหมณ์ ห้อยลู่ลงด้านบนเป็นร่องตามยาว 
ลักษณะดอกของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบช่อตั้งขึ้นก้านช่อยาว 13-20 ซม. ดอกของ หนวดพราหมณ์ เรียงค่อนข้างแน่น มีกลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1.5 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาว ปลายกลีบสีม่วง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบดอกสีขาว ขอบกลีบอาจมีสีม่วงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบปากสีม่วงแกมแดง กลางกลีบสีจางกว่า กลีบรูปรีแกมรูปไข่ ปลายกลีบเว้าตื้น โคนกลีบแต่ละข้างมีติ่งขนาดเล็ก ฝาปิดกลุ่มเรณูสีม่วงเข้ม หนวดพราหมณ์ ให้ดอกช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน เมษายน- พฤษภาคม ดอกของ หนวดพราหมณ์ มีกลิ่นหอม หากปลูกเป็นกอจะส่งกลิ่นหอมโชยพัดตามลมครับ 

การปลูกเลี้ยง หนวดพราหมณ์ 
- การปลูก สามารถปลูกโดยการห้อยหัวลง หรือ ทำให้ห้อยลงมาได้ครับ หรือปลูกจับลำตั้งขึ้นก็ได้ครับ
- การรดน้ำ หนวดพราหมณ์ ควรรดเวลาเดียวช่วงเช้าตรู่ หรือ ช่วงเย็น เท่านั้น หนวดพราหมณ์ ที่ปลูกใหม่ ยังไม่ควรให้ถูกแสงแดดจัดมากเกินไปเพราะอาจทำให้ตายได้ครับ
- หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงค่อนข้างมาก เมื่อรากเดินดีแล้วควรค่อย ๆ ขยับเข้าหาแสงแดดบ้าง เช่นถูกแสงแดดช่วงเช้า ๆ หรือ ช่วงเย็นหลัง 4 โมง เป็นต้น แสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ หนวดพราหมณ์ ได้ปรุงอาหาร สะสมเตรียมไว้สำหรับออกดอกครับ หากไม่ได้รับแสงที่เพียงพอ หนวดพราหมณ์ จะไม่ค่อยให้ดอก หรือ ให้ดอกไม่ดกครับ
- ปุ๋ยสำหรับ หนวดพราหมณ์ ควรให้ทุกสัปดาห์ สูตรปุ๋ยไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราปลูกครับ แต่ปุ๋ยที่ต้องให้นั้นคือปุ๋ยสูตรเสมอ เพื่อให้ หนวดพราหมณ์ ได้มีอาหารสะสมและแตกกอสวยงามครับ
- หาก หนวดพราหมณ์ ไม่ให้ดอก หรือ ลำต้นแคระแกรน ให้พึงพิจารณาเรื่องแสงครับ 
       **แต่โดยรวม หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายครับ เพียงหมั่นรดน้ำทุกวันก็แตกกอสวยให้ดอกงดงามแล้วครับ แต่หากขยันให้ปุ๋ยเป็นอาหารเสริมด้วยแล้วละก็ หนวดพราหมณ์ จะยิ่งให้ดอกดกขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าเชียว ท่านที่ปลูก หนวดพราหมณ์ ได้อ่านบทความ นี้แล้วได้ผลเช่นไรอย่าลืมนำภาพดอกของ หนวดพราหมณ์ สวย ๆ มาแบ่งกันชมได้ในเว็บบอร์ดนะครับ !






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น