วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอื้องเขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)





                                          เอื้องเขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)

เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)
     ในพื้นที่ป่าโปร่งผลัดใบคงไม่มีเอื้องชนิดไหนที่มีความงามเทียบเท่ากับ เขาแกะ กล้วยไม้สกุลช้าง(Rhynchostylis)อีกแล้วก็เป็นได้ครับ
     เช่นเดียวกับรองเท้านารีที่ถูกเรียกชื่อตามรูปลักษณ์ดอกอันแสนแปลกของมัน เขาแกะ เองก็เป็นหนึ่งในกล้วยไม้ที่ถูกเรียกชื่อตามลักษณะที่พบเห็น เพียงแต่ เขาแกะ ไม่ได้ถูกตั้งชื่อเพราะดอกเหมือนเขาของแกะ แต่เป็นเพราะใบที่โค้งงอสลับกันไปมาซ้ายขวาที่เหมือนเขาของของแกะเอื้องชนิดนี้เลยได้รับฉายาว่า เขาแกะ ไปโดยไม่รู้ตัว
     ชื่อวิทยาศาสตร์ของ เขาแกะ คือ Rhynchostylis coelestis มันเป็นกล้วยไม้สกุลช้างอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ในบ้านเรา เขาแกะ ในธรรมชาติเรามักพบ เขาแกะ ได้ทั่วไปบนคาคบไม้เตี้ย-สูงในป่าโปร่งร้อน เขาแกะ นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่ทนร้อนได้อย่างสุด ๆ ครั้งหนึ่งผมได้เดินทางไปยังต่างอำเภออันแร้นแค้น ป่าไม้เป็นป่าโปร่งผลัดใบแม้แต่หญ้าบนพื้นก็แห้งเหี่ยว มีต้นไม้ยืนต้นตายหลายต่อหลายต้น
แต่เมื่อมองขึ้นบนยอดไม้ที่ยังพอมีชีวิตหลงเหลืออยู่บ้างก็พบกับเจ้า เขาแกะ ยืนต้นท้าแสงแดดอันร้อนระอุอย่างไม่สะทกสะท้าน ผมมั่นใจมากว่า เขาแกะ ที่ผมเห็นในตอนนี้ต้องตายในไม่ช้า แต่สองปีให้หลังผมก็ได้เดินทางไปยังป่าแห่งนี้อีกครั้ง และเดินไปยังโคนต้นไม้ต้นเดิมแล้วเงยหน้าขึ้น มันน่าตกใจจริง ๆ ครับ เขาแกะ ต้นเดิมกลับแตกหน่อมีดอกบานสะพรั่งสวยงามจนน่าตกใจ และเมื่อลองเดินสำรวจป่าระแวกนี้ดูผมก็พบว่ามี เขาแกะ น้อยใหญ่เติบโตขึ้นบนกิ่งไม้ที่ถูกแดดฟาดอย่างจังอย่างน่าตกใจ นับได้ว่า เขาแกะ เป็นราชาทนร้อนของจริงเลยละครับ
     ในทางภาคเหนือ เราอาจจะได้ยินคำว่า เอื้องขี้หมา จนติดหู มันเป็นชื่อเรียกของ เขาแกะ อีกชื่อที่เราอาจไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ เขาแกะ ยังมีชื่อเล่นอื่น ๆ อีกว่า เอื้องเขาควาย แล้วยังได้รับฉายาเป็นชื่อแบบอินเตอร์อีกด้วยว่า Blue Foxtail แปลได้เท่ ๆ ว่า จิ้งจอกหางน้ำเงิน
     ด้วยลักษณะของช่อที่ตั้งยาวขึ้น เขาแกะ จึงเป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่นักพัฒนากล้วยไม้ทั้งไทยและนอก เขาแกะ ถูกนำไปผสมกับกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์เช่น แวนดา เข็ม และไม่แน่ว่าบางครั้งเราอาจพบกับลูกผสมของ เขาแกะ ตั้งตระหง่านสวยงามอยู่ตรงหน้าโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ลักษณะทั่วไปของ เขาแกะ
ลำต้น เขาแกะ มีรูปทรงใบเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างเตี้ย ตั้งตรง เจริญเติบโตทางยอด
ใบ ออกเรียงสลับซ้ายขวา โคนใบเป็นแผงชิดกันแน่น ปลายใบโค้งลงเล็กน้อย มองดูคล้าย เขาแกะ หรือเขาควาย แผ่นใบบางและเหนียวห่อเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร
ดอก เป็นช่อตั้งตรง ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกเบียดกันแน่น ขนาดดอกราว 1.5-2.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขนานแกมรูปไข่ กลีบทั้ง 5 กลีบมีสีขาว ขอบกลีบมีขลิบเป็นสีม่วงคราม บางต้นอาจมีสีออกไปทางแดง หรือไปทางสีน้ำเงินก็มี ปลายกลีบมน กลีบปากรูปลิ่ม มีเดือย ดอกแบนและปลายโค้งลง ดอกบานทนนาน ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีกลิ่นหอม ช่วงเวลาที่ออกดอก คือฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 
แหล่งกระจายพันธุ์ เขาแกะ มีแหล่งกระจายพันธุ์บริเวณป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งผลัดใบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยพบในทุกภาคยกเว้นภาคใต้

เทคนิคการเลี้ยง เขาแกะ
- ในการปลูกเลี้ยง เขาแกะ นิยมปลูกเลียนแบบธรรมชาติ เช่นติดกับขอนไม้ ใส่กระเช้า หรือ นำไปติดบนต้นไม้ใหญ่ก็ได้ครับ เขาแกะ เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างชอบแสงแดด ดังนั้นอย่านำไปแขวนไว้บริเวณที่ร่มจัดเกินไปนะครับ เพราะอาจจะไม่ได้ดูดอกและเผลอ ๆ จะเน่าตายได้ครับ เอาละลองดูวิธีปลูกของผมกันดูนะครับ
◇ ก่อนอื่นหากเป็นไม้ดิบ ให้ตัดรากแห้งทิ้งให้หมดครับ
◇ หากใส่กระเช้า ผมแนะนำกระถางพลาสติก 4นิ้ว ขนาดกำลังเหมาะพอดีครับ
◇ หากเป็นขอนไม้ หาขนาดพอเหมาะไม่ต้องใหญ่มาก หากติดต้นไม้....หาจุดเหมาะ ๆ โดยดูทิศทางแสงให้ดีอย่าได้ร่มไปครับ
◇ วิธีใส่ เขาแกะ ลงในกระเช้า 4นิ้ว ให้พยายามเรียงรากลงกระถางให้ได้ครับโดยเราอาจต้องจับสอดทีละเส้นเพื่อให้รากผ่านรูของกระเช้าลงไป พอใส่ได้แล้ว เราอาจจะนำกาบมะพร้าวแช่น้ำแล้ว มาสอดใส่ใต้รากรองไว้ระหว่างกระเช้ากับรากของ เขาแกะ ก็ได้ครับ เพื่อให้ได้รับความชื้นที่เหมาะสมและทำให้รากใหม่แตกเร็วขึ้น
◇ ในกรณีเกาะขอนไม้ ให้เราหาเชือกฟาง ฟิว หรือสายโทรศัพท์ มายึดเขาแกะกับขอนไม้ให้แน่น จัดทรงต้นให้ตั้งขึ้นแล้วใช้ฟิวหรืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้ยึดให้ทรงต้นไม่ล้ม หากมั่นคงดีแล้วก็นำไปแขวนในร่มรำไร หรือใต้สแลนพลางแสง รอไม้พักตัวครับ
◇ ระหว่างไม้พักตัว ให้รดน้ำเวลาเดียวเช่นเดียวกับกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ โดยจะเป็นเวลาเช้า หรือ เย็น ให้เพียงเวลาเดียว เวลาไหนก็ได้ครับยกเว้นบ่าย
◇ เมื่อรากเกาะเดินดีแล้ว ถึงแม้จะเป็นไม้ป่าก็ตามก็ควรจะให้ปุ๋ยบ้างเพราะมาอยู่ในเมืองอาหารการกินก็ต้องปรับตามครับ สูตรที่แนะนำคือ 21-21-21 เป็นสูตรเสมอมาตรฐาน ควรฉีดพ่นทุกสัปดาห์ เมื่อถึงเวลาให้ดอก เขาแกะ จะผลิดดอกออกงามประทับใจเราเลยทีเดียว

กรณีไม้ขวด ไม้เลี้ยง
- กล้วยไม้ขวด หรือ ไม้เลี้ยง มักไม่ค่อยมีปัญหามาก ลักษณะการปลูกขึ้นกระเช้าสามารถทำได้เช่นเดียวกับกล้วยไม้ทุกชนิดครับ ในการอนุบาลไม้นิ้ว หรือ ไม้ออกขวดใหม่ เราอาจจะใช้ปุ๋ย ตัวหน้าสูงอย่าง 30-20-10 บำรุงสลับกับ สูตรเสมอ 21-21-21 บ้างเพื่อให้ไม้โตเร็วขึ้นครับ หากใครไม่ทราบว่าต้องหนีบนิ้วลูกไม้อย่างไร ลองอ่านหน้า วิธีการหนีบนิ้วลูกไม้ที่หน้าบทความกล้วยไม้ทั่วไป <http://www.orchidtropical.com/articleid21.php>ดูนะครับ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น