วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอื้องสามปอย

เอื้องสามปอย

     ปอย เป็นคำพื้นเมืองของชาวเหนือ ซึ่งใช้เรียกงานประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานบุญ ในฤดูของงานปอยนั้นมักจะ จัดขึ้นในช่วงต้นของฤดูร้อนและในบางครั้งอาจ ยาวติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้ชนิดหนึ่งให้ ดอกผลิบานส่งกลิ่นหอมอบอวนอยู่พอดี หญิงสาวชาวเหนือจึงเด็ดดอกของกล้วยไม้ที่หอมรัญจวนนี้ นำมาเหน็บ ประดับติดไว้กับมวยผมของตน กล้วยไม้ชนิดนี้จึงถูกขนานนามโดยชาวเหนือว่า สามปอย ซึ่งมีความหมายคือ เอื้อง อันงดงามที่เบ่งบานได้ยาวนานตลอดยามงานปอยทั้งสามฤดูของพวกเขานั่นเอง
     สามปอยเอื้องเมืองเหนือที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของกลิ่นหอมเย้ายวน มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมอย่าง แพร่หลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในต่างประเทศสามปอย และลูกผสมจากสามปอยเป็นกล้วยไม้สีเหลืองยอดฮิต ติดตลาดรองจากฟ้ามุ่ยและลูกผสมของฟ้ามุ่ย และสายพันธุ์แท้นี้ก็ยังมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มันเป็นที่จับตา มองของเหล่านักเลี้ยงกล้วยไม้ต่างชาติหลายคน เหล่าผู้คนแดนตะวันตกจึงต่างพากันอิจฉาเมืองร้อนอย่างไทยเรา ที่มีสามปอยหลากหลายสายพันธุ์ไว้ครอบครอง 

     ผมได้เดินทางไปสืบเสาะหาสามปอยหลากหลายพื้นที่ และได้ ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสามปอยจากนักเลี้ยงกล้วยไม้ ระดับเซียนสามปอยเก่าแก่หลายคน หนึ่งในนั้นคือคุณชิเนนทร เซียนสามปอยที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่มายาวนานมากกว่า ๕๐ ปี ท่านได้เล่าเรื่องความหลังเกี่ยวกับสามปอยและแยกลักษณะสาม ปอยแต่ละสายพันธุ์ให้ผมฟัง

     สามปอยนก หรือที่ถูกเรียกในนาม สามปอยหางปลา เป็นสามปอยที่มีขนาดเล็กที่สุด กลีบดอกทั้งห้ากลีบเล็กเรียวและส่วนกลีบดอกที่ดูคล้ายปีกนั้นบิดลู่ ราวกับนกที่กำลังโผบิน พื้นดอกนั้นหากเพ่งดูดี ๆ แล้วบางต้นจะพบลายตารางที่เรียกว่าลายสมุกอยู่ สามปอยชนิดนี้มีกลิ่นหอมเบา ๆ เท่านั้น เมื่อลองมองมาที่ปากของดอกสามปอยชนิดนี้จะพบว่าที่ปลายสุดของปากจะมีลักษณะ คล้ายกับหางปลา และเมื่อลองไล่ย้อนไปตรงโคนของปากจะพบสีชมพูเรื่อ ๆ อยู่ ดอกของพวกมัน มีทั้งสีน้ำตาลแดง สีแดงสด และสีเขียวหรือเหลือง ซึ่งในศัพท์นักเลี้ยงกล้วยไม้เรียกชนิดที่มีสีเขียวนี้ว่า "เผือก" ก้านช่อของ สามปอยนก นั้นยาว แต่ดอกที่อยู่บนก้านช่อนี้จะห่างจากกันค่อนข้างมาก ในก้านช่อจะประกอบไปด้วยดอกเล็ก ๆ ราว ๆ ๑o-๒o ดอก "ลักษณะที่ดีของ สามปอยนก จะต้องมีดอกที่ถี่ช่อแน่น ก้านดอกสั้นกว่าปรกติ หากเป็นไปได้มีขนาด ดอกที่ใหญ่ด้วยจะยิ่งดีเลิศ” คุณชิเนนทรกล่าว

ฟ้ามุ่ย ( vanda coerulea )




ฟ้ามุ่ย ( vanda coerulea )

ฟ้ามุ่ย ( vanda coerulea )
     ฟ้ามุ่ย กล้วยไม้กลุ่มสกุล Vanda เป็นกล้วยไม้ที่มีชื่อก้องติดหูคู่กับคนไทยมานานแสนนาน เมื่อเอ่ยถึงเอื้อง ฟ้ามุ่ย แล้ว ไม่มีใครที่ไม่อยากครอบครอง ว่ากันว่าล้ำค่าที่สุด หายากที่สุด และได้รับการยอมรับว่าเป็นกล้วยไม้ที่สวยที่สุดชนิดหนึ่งของโลก นอกจากผู้คนที่ใช้ชีวิตกับหุบเขาแล้ว ชาวพื้นราบแทบไม่มีโอกาสได้ครอบครอง กล้วยไม้ชนิดนี้จึงเป็นอัญมณีสีฟ้าที่ล้ำค่าที่หลายคนต่างหมายปองและช่วงชิง
     นอกจากชื่อ ฟ้ามุ่ย แล้ว กล้วยไม้ชนิดนี้ยังรู้จักกันในอีกหลาย ๆ ชื่อ อาทิเช่น พอดอนญ่า และพอท็อก เป็นต้น กล้วยไม้ชนิดนี้พบได้ตามในป่าดิบเขาของภาคเหนือ กล้วยไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1000 เมตรเป็นต้นไป จึงไม่ง่ายเลยที่จะเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดนี้ได้ในท้องที่ล่างภาคเหนือลงไป จังหวัดที่พบว่ามี ฟ้ามุ่ย ขึ้นอยู่นั้นได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ในสมัยหนึ่ง ฟ้ามุ่ย เป็นกล้วยไม้ที่เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงขนาดที่ว่ามีการจ้างวานให้ชาวบ้านที่อาศัยบนภูเขานำ ฟ้ามุ่ย เก็บใส่
         กระสอบเพื่อนำมาจำหน่ายในท้องตลาดให้กับนักเลี้ยงกล้วยไม้ ทำให้ ฟ้ามุ่ย ในภาคเหนือลดน้อยลงจนน่าตกใจและใกล้สูญพันธุ์ ไซ เตส ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มี วัตถุประสงค์ที่จะรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่า จึงขึ้นทะเบียน ฟ้ามุ่ย ไว้ในบัญชีพืชอนุรักษ์ บัญชี 1 ร่วมกับกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พืชอนุรักษ์ บัญชี 1 หมายถึง ชนิดพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ทั้งการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านชนิด ทั้งนี้ต้นที่จะจำหน่ายไปต่างประเทศจะต้องเป็นต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ เทียมเท่านั้น ทำให้การส่งออกกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นไปด้วยความลำบาก แต่ในปี พ.ศ. 2549 มีการประชุมไซเตส ที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นขอมติที่ประชุมให้เพิ่มถอนรายชื่อ ฟ้ามุ่ย ออกจาก บัญชี 1 เป็นบัญชี 2 แทน โดยมีเหตุผลว่า ฟ้ามุ่ย ได้มีการคัดพันธุ์และขยายพันธุ์โดยวิธีขยายพันธุ์ เทียม (ปั่นตา หรือเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ) แล้วนำมาปลูกเลี้ยงในประเทศกันอย่างแพร่หลาย จากการถอนออกจากบัญชี 1 มาอยู่บัญชี 2 ทำให้การส่งออก ฟ้ามุ่ย ไปต่างประเทศสะดวกกว่าแต่ก่อน
     ในปัจจุบัน เราอาจพบว่ามีกล้วยไม้มากมายที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกับ ฟ้ามุ่ย แวนดาสีฟ้าไปจนถึงสีน้ำเงินเข้มจัด ทั้งหมดเป็นลูกผสมของ ฟ้ามุ่ย โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะมีเลือดของ ฟ้ามุ่ย อยู่ราว ๆ 25% - 50% และบางต้นก็คล้ายมากจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็น ฟ้ามุ่ย แท้ หรือ ฟ้ามุ่ย ลูกผสม โดยเฉพาะนักเลี้ยงกล้วยไม้ใหม่ที่อาจจะดูเผิน ๆ แล้วกล้วยไม้ที่มีสีฟ้าอาจสรุปได้ว่าเป็น ฟ้ามุ่ย เกือบทั้งหมดก็เป็นได้

           ลักษณะของกล้วยไม้ชนิดนี้ : เอื้อง ฟ้ามุ่ย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือไม้อากาศ สามารถปรับตัวอย่างยอดเยี่ยม ขึ้นเกาะอยู่กับเปลือกไม้ของไม้ยืนต้นในป่า มีรากยึดเกาะเหนียวแน่นและอาศัยเพียงแร่ธาตุที่ชะมากับน้ำฝนผสานกับความชื้น ในอากาศ ก็สามารถรอดชีวิตผลิดอกให้ได้เห็นกันทุกปี ฤดู กาลออกดอกคือระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึงธันวาคม โดยออกดอกเป็นช่อตั้งจากซอกใบ ช่อดอกยาว 20-40 ซ.ม. ช่อดอกโปร่ง เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาดกว้าง 4-7 ซ.ม. โดดเด่น ด้วยกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปร่างมน สีฟ้าอ่อนหรือสีฟ้าอ่อนหรือสีฟ้าอมม่วงมีเสน่ห์ดึงดูดสายตา และน้อยนักที่จะพบสีสันอย่างเช่น สีชมพู หรือ สีขาวล้วน ซึ่งเป็นสีที่หายากที่สุด ทั่วกลีบมีลายเส้นร่างแหสีครามเข้มนิยมเรียกกันว่า “ลายตาสมุก” ส่วนกลีบปากมีสีม่วงน้ำเงินงามยิ่ง 

        การปลูกเลี้ยง ฟ้ามุ่ย 
ในการปลูกเลี้ยง ฟ้ามุ่ย ผมแนะนำให้หาพันธุ์แท้จากฟาร์มกล้วยไม้ เนื่องจาก ฟ้ามุ่ย ที่พัฒนาสายพันธุ์ในพื้นราบจะสามารถเลี้ยงได้ง่ายกว่าการนำกล้วยไม้ป่าที่อยู่บนดอยสูง ๆ มาเลี้ยงที่บ้าน และ กล้วยไม้ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว ยังมีความสวยงามกว่า ฟ้ามุ่ย ที่มาจากป่าแท้ ๆ ด้วยครับ แต่การเลือกซื้อ ฟ้ามุ่ย ให้ได้ ฟ้ามุ่ย พันธุ์แท้ ไม่ใช่ลูกผสมนั้น ต้องพิจารณาและคำนึงให้ดีก่อนการตัดสินใจซื้อซึ่งอยู่ที่ดุลพิจนิจของผู้ซิ้อเองทั้งหมดครับ
กล้วยไม้ขวด : เมื่อได้ ฟ้ามุ่ย ขวดมาแล้ว ให้นำลูกไม้ขวดที่ได้รับมาวางในพื้นที่โรงเรือนที่เราจะปลูก โดยห้ามให้แดดส่องถึงเป็นอันขาด (หมายถึงห้ามถูกแสงแดดตรง ๆ นะครับ ไม่ใช่ว่าเอาไปเก็บในร่มซะมืดทึบ) ถ้าแดดส่องถึง อุณหภูมิในขวดจะสูงและทำให้ลูกไม้ในขวดตายครับ ที่นำมา วางก่อนก็เพื่อให้ลูกไม้ปรับตัวกับสภาพโรงเรือนก่อนนั่นเองครับ ส่วนระยะวันที่จะวางนั้นก็ราว ๆ 10 - 15 วัน หรือจะ 15 - 30 วันก็ได้ครับ แล้วแต่ความสะดวก หลังจากวางทิ้งไว้นานพอสมควรแล้ว เราก็สามารถเคาะออกขวดได้ตามปกติครับ 
     ลูกไม้ที่ออกขวดแล้วนั้น ให้นำวางเรียงไว้ในตะกร้าพลาสติกก่อนครับ ตะกร้าพลาสติก 10-15 บาท ที่ขายในตลาดทั่วไปก็ใช้ได้ครับ โดยรดน้ำทุกเช้า แขวนผึ่งไว้แบบนี้จนกว่าจะมีรากใหม่ ประมาณ 1 เดือนได้ ซึ่งในระยะที่อยู่ในตะกร้านี้ ควรอยู่ใต้ซาแรนที่พลางแสงอย่างน้อย 70 - 80% ทั้งนี้เนื่องจากลูกไม้ยังไม่ต้องการแสงมาก ปุ๋ยและยาสามารถฉีดพ่นได้แต่ควรให้ครึ่งเดียวจากปกติ เช่นเดียวกับเด็กอ่อนที่ต้องให้อาหารอ่อน ๆ ก่อนครับ หลังจากรากใหม่เติบโตดีก็สามารถลงกระถางนิ้วได้เลย!


       การขุน และการให้น้ำและปู่ยกับ ฟ้ามุ่ย
ฟ้ามุ่ย บางท่านถึงกับให้น้ำถึง 2 ครั้ง คือเช้าและเย็นและกล่าวกันว่าเป็นกล้วยไม้ที่ต้องการน้ำมาก แต่สำหรับผมแล้วรดน้ำเพียงแค่เวลาเดียวคือเช้าเท่านั้นเนื่องจากทางเหนืออากาศชื้นอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อยครับ หลักของการให้น้ำคือ ชื้นแต่ไม่แฉะ เราสามารถให้น้ำ ฟ้ามุ่ย ช่วงเวลาได้สองช่วงคือ เช้า หรือ เย็นก็ได้ ช่วงเช้าคือตั้งแต่เริ่มมีแสงไปจนถึง 8 โมงเช้า และ เย็นตั้งแต่หลัง 4 โมงเย็น หากรดน้ำในช่วงกลางวัน น้ำอาจจะเข้าไปขังใน กาบใบทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ตามมาได้นั่นเองครับ
     ปุ๋ย หากเป็นระยะไม้เล็ก สามารถให้ปุ๋ยสูตร เสมอ สลับกับตัวหลังสูงได้ ทุก ๆ สัปดาห์ ตัวหลังสูงจะเป็นสูตรที่ช่วงเร่งให้กล้วยไม้โตเร็วขึ้นครับ สูตรปุ๋ยนั้นไม่แน่นอนแล้วแต่ว่าจะประยุคต์ใช้ตามเหตุผลของแต่ละคนครับ ของคุณชิเนนทร ท่านจะสลับเสมอบ้าง กลางบ้าง หลังบ้าง มั่ว ๆ แล้วแต่ว่าอยากจะฉีดอะไรครับ แต่ผลที่ได้ กล้วยไม้ท่านก็สวยสุดยอดทุกต้นเลยครับ ซึ่งก็แปลกดีทั้ง ๆ ที่ไม่มีสูตรตายตัวแท้ ๆ !?

ฟ้ามุ่ย ไม่ออกดอก ทำไงดี ?
เมื่อพบว่า ฟ้ามุ่ย ไม่มีดอก ให้เริ่มพิจารณาดังนี้ครับ
1. เป็นกล้วยไม้จากป่าแท้ ๆ กล้วยไม้ที่ลงดอยนำมาปลูกพื้นราบ หลาย ๆ ต้นปรับตัวไม่ได้ก็จะไม่ให้ดอกครับ เผลอ ๆ เลี้ยงได้แต่ให้ดอกยาก
2. แสงไม่เพียงพอ ผมเคยเดินตามหมู่บ้านบนเขาพบว่าชาวบ้านเลี้ยง ฟ้ามุ่ย กันโดยที่ไม่มีซาแรนปิดบังกลับพบว่า ฟ้ามุ่ย ให้ดอกช่อยาวสวยมาก นั่นเป็นเพราะว่าแสงเป็นปัจจัย สำคัญให้การออกดอกครับ หากได้รับแสงมากกระบวนการปรุงอาหารของกล้วยไม้ก็จะดีและส่งผลไปถึงการออกดอก กรณีเลี้ยงพื้นราบควรเลี้ยงใต้ซาแรนพลางแสงราว ๆ 60-70% กล้วยไม้ที่ได้รับแสงเพียงพอ ไม่ว่าชนิดได ก็จะให้ดอกได้ง่ายครับ ลองดูนะครับ
3. ป่วย อาการป่วยที่พบบ่อยใน ฟ้ามุ่ย คือ ราเข้าใส้ ให้ระวังให้ดีเพราะไม่รู้ทำไม ราชอบเข้าใส้ ฟ้ามุ่ย มากครับ ป้องกันด้วยการหมั่นฉีดยาและทำให้โรงเรือนสะอาดเข้าไว้ครับ



เอื้องสามปอยขุนตาน ( Vanda denisoniana )


เอื้องสามปอยขุนตาน ( Vanda denisoniana )

สามปอยขุนตาน ( Vanda denisoniana )
     สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้กลุ่มสกุลแวนดา (Vanda) ชื่อของ สามปอยขุนตาน นั้นได้มาจากแหล่งที่ค้นพบในครั้งแรก ๆ คือ เทือกเขาขุนตาน ปัจจุบันคือ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ตั้ง อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง
ลักษณะทั่วไป สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้เจริญเติบโตทาง ยอด ใบมีลักษณะยาวเรียวเรียงกันเป็นรูปตัว V พบได้ตามเทือก เขาทางภาคเหนือ สามปอยขุนตาน ที่พบแต่ละแหล่งจะมีลักษณะ ของดอกที่แตกต่างกัน รวมไปถึงกลิ่นด้วย สามปอยขุนตาน ที่เล่า ลือเรื่องกลิ่นหอมแรง ว่ากันว่า ต้องมาจากภาคเหนือ อันนี้จะจริง หรือไม่ก็ต้องลองพิสูจน์กันดูครับ orchidtropical เราอยู่ภาคเหนือ อยู่แล้ว สามปอยขุนตาน ที่พัฒนามาจึงเป็นไม้เหนือทั้งหมดครับ
     ดอกของ สามปอยขุนตาน มีสีสันตั้งแต่สีขาวโพลน ไล่ผ่านสี เหลืองเปลือกกล้วย และเข้มขึ้นไปจนสุดที่สีส้มจัด ขนาดของดอก นั้นมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเหรียญ 5 ไปจนถึง ใหญ่กว่าเหรียญ 10 
ฤดูให้ดอก อยู่ในช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ ยาวนานได้จนถึง กรกฏาคม หรือ มากกว่า ดอกของ สามปอยขุนตาน นั้นบาน ยาวนานได้ถึงหนึ่งเดือนเลยทีเดียว ที่เด่นที่สุดของ สามปอยขุนตาน คือความหอมที่เย้ายวน กลิ่นของ สามปอยขุนตาน นั้น หอมราวกับอบเชย และกลิ่นจะแรงที่สุดคือช่วงตอนกลางคืน และตอนรุ่งสางเท่านั้น ในตอนกลางวัน สามปอยขุนตาน จะ มีกลิ่นเพียงเบา ๆ ต้องดมใกล้ ๆ แต่บางต้นก็มีกลิ่นหอมตอนกลางวันเช่นกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่มีเพียงบางต้นเท่านั้น 

ลักษณะดอก สามปอยขุนตาน กลีบมีลักษระทรงรูปไข่ ประกอบด้วยกัน 5 กลีบ บริเวณปากดอกตรงปลายสุดแตกแยกออกมาเป็น 2 แฉก มีสีออกสีเหลือง อ่อนไปจนถึงสีขาว ลึกเข้าไปในปากดอกมีสันสองด้านเรียกว่า Side lope มี ลักษณะเป็นสีขาว เส้าเกสรเป็นสีขาว
     แต่ยังมี สามปอยขุนตาน อีกประเภทที่มีลักษณะเด่นกว่า สามปอยขุนตาน ทั่วไป เรียกกันในชื่อ สามปอยหลวง ลักษณะทั่วไปคล้าย สามปอยขุนตาน ทุก ประการ แต่เชื่อกันว่า กลีบดอกและปากดอกหนากว่า ขนาดดอกนั้นใหญ่กว่า บางต้นพื้นดอกมีลายสมุกชัด ปากมีสีเขียวโทนเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม กลิ่น หอมแรงกว่า สามปอยขุนตาน หายากกว่า และมีน้อยคนที่จะดูออกอย่างแท้จริง

จากซ้ายไปขวา สามปอยขุนตานสีเหลือง, สามปอยขุนตานส้ม, สามปอยหลวง 

ผมได้เดินทางเสาะหาเรื่องข้อมูล สามปอยหลวง นานนับปี ซึ่งได้เก็บ รวบรวมภาพ สามปอยหลวง จากสถานที่ต่าง ๆ ที่หาได้ ประกอบกับ สัมภาษณ์บุคคลที่มีประสบการณ์และคลั่งไคร้สามปอยมายาวนาน สองท่าน ค้นหาเรื่องราวของ สามปอยหลวง ในหนังสือกล้วยไม้ หลากหลายเล่มประกอบกัน ซึ่งได้เขียนสรุปถึงความแตกต่างของ เจ้าเอื้อง สามปอยหลวง และ สามปอยขุนตาน ไว้ที่บทความเรื่อง สามปอย <http://www.orchidtropical.com/vanda-denisoniana.php> ซึ่งเก็บไว้ในหน้า นานาสาระกล้วยไม้  <http://www.orchidtropical.com/orchid-knowledge.php>ครับ 

การปลูกเลี้ยงสามปอยขุนตาน
สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ถึงแม้จะเป็นกล้วยไม้ทางภาคเหนือ แต่ก็เป็นกล้วยไม้ทนร้อนอีกตัวหนึ่งที่ สามารถปลูกเลี้ยงได้ในทุกภูมิภาคของไทยครับ โดยการปลูกเลี้ยงมีวิธีดังนี้
กรณีได้กล้วยไม้มาเป็นต้นใหญ่แบบถอนรากถอนโคน
- ให้นำกล้วยไม้ที่ได้ มาตัดแต่งรากที่แห้งออกให้หมด เหลือเพียงรากดีเท่านั้น หากปลูกลงในกระเช้าพลาสติก ให้พยายาม บรรจงร้อยรากที่มีอยู่ลงในช่องในรูกระเช้าภาชนะปลูก แล้วจับลำตั้งขึ้นให้ตรง ยึดโดยฟิวหรือเชือกฟางมัดติดกับลวด แขวน นำไปไว้ที่ร่มรำไรเสียก่อนเพื่อให้ สามปอยขุนตาน ได้ปรับตัวแตกรากแตกใบใหม่แข็งแรงดีเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ย้ายไปยังที่ที่ปริมาณแสงมากขึ้น
- หากติดขอนไม้ ให้ใช้เชือกฟางผูกมัดกล้วยไม้กับขอนไม้ให้แน่น อย่าให้สั่นคลอน หากคลอนไปมา จะทำให้กล้วยไม้แตก รากใหม่ช้า อาจจะชงักการเจริญเติบโต หรือติดโรคได้ โดยเฉพาะ ราเข้าใส้ ซึ่งเป็นง่ายในสกุลแวนดา โดยเฉพาะตอน รากมีแผล เชื้อจะเข้าไปทางแผลบริเวณรากและลามเข้าต้นจนตายในทที่สุดได้ ป้องกันด้วยการฉีดยากันรา 1 ครั้งต่อ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะฤดูฝน

กรณีกล้วยไม้เพาะพันธุ์จากฟาร์ม
- หากได้เป็นไม้ขวด ให้นำลูกไม้ปลูกลงในตะกร้า โดยห้ามรองพื้นด้วยสเฟกนั่มมอสหนา ๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้รากชื้น จนอาจเน่าได้ ให้นำตะกร้าแขวนไว้ในที่ที่มีลมพัดถ่ายเทสะดวก มีแสงเข้าถึงราว ๆ 60-70% หากได้รับแสงตลอดวันจะดี มาก (หมายถึงแสงที่ลอดผ่านใต้สแลน) หรือหากต้องการหนีบลงนิ้วก็ทำได้ภายหลังจากการผึ่งในตะกร้าแล้ว 1 - 2 เดือน หรือถ้าใจร้อนก็หนีบเลยก็ได้ครับ ลองดูวิธีการเลี้ยงไม้ในตะกร้า และการหนีบไม้นิ้วได้ที่ บทความการหนีบไม้นิ้ว
- กรณีเป็นไม้รุ่น สามารถปลูกเลี้ยงต่อได้เลยไม่มีปัญหาได ๆ ครับ หมั่นฉีดปุ๋ย ยา อาหารให้ สามปอยขุนตาน ของเราให้ สม่ำเสมอ ก็มีดอกให้ดูทุกปีอย่างแน่นอนครับ ต่างจากไม้ป่า ที่อาจจะชงักไปชั่วคราว หรืออาจให้ดอกปีเว้นปี หรือเผลอ ๆ น้อยใจไม่ให้ดอกเลยก็มี
***ข้อควรระวัง !! อย่าให้ราก สามปอยขุนตาน ยาวแตะพื้น หรือ ระวังอย่าให้รากมีรอยช้ำ หรือ ขาด เพราะ กล้วยไม้สกุล แวนดา ติดโรคราเข้าใส้ได้ง่ายมาก เมื่อรากมีแผล หรือช้ำ โดยเฉพาะโรงเรือนที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
****เครื่องปลูกไม้รุ่นนั้นแทบไม่จำเป็นต้องมี สามปอยขุนตาน เป็นแวนดาที่แตกรากเร็วมาก หากเลี้ยงเปลือยรากในกระเช้า รากจะแตกแขนงและยาวเรื่อย ๆ ดูสวยงามไปอีกแบบครับ หากใส่เครื่องปลูกต้องระวังให้ดี เครื่องปลูกที่เก่า มักเป็นตัวปัญ หาเรื่องโรคราเข้าใส้ตามมา ดังนั้น ไม่ใส่ น่าจะดีกว่าไหมครับ ?

สามปอยขุนตานไม่ออกดอกทำไงดี ?
- กรณีเลี้ยงเท่าไหร่ก็งามแค่ใบ ไม่มีดอกเสียที ให้ลองเปลี่ยนที่ โดยพยายามให้ได้รับแสงที่มากขึ้น ปัญหาของกล้วยไม้ที่ มีใบงาม จนเกินเหตุแตกหน่อแตกกอดีแต่ไม่มีดอกนั้นเป็นเพราะขาดแสงครับ ยิ่งได้รับแสงมาก กล้วยไม้ยิ่งให้ดอกง่าย แต่ไม่ได้หมายถึงให้เรานำกล้วยไม้ไปตากแดดทั้งวันนะครับ ให้ได้รับแสงอย่างน้อย ๆ ก็ตอนเช้า ตั้งแต่แสงแรกถึง 10.00- 11.00 น. หรือ หลัง 15.00 น. เป็นต้นไป หลีกเลี่ยงแสงแดดตรง ๆ ช่วงเวลา 11.00 น. - 15.00 น. เพราะแดดแรง ร้อนจัด อาจทำให้ใบกล้วยไม้ไหม้เกรียมถึงตายได้ ซาแรนที่ใช้ ในโรงเรือนจะอยู่ที่ 40-70 % โดยเลือกตามความเหมาะสมของแต่ ละพื้นที่ ถ้าร้อนมากก็มุงหนาหน่อย ถ้าไม่ร้อนก็มุงบางเอาแสงมากเข้าว่าครับ
*****ซาแรน 40% หมายถึง แสงผ่านได้ 60% ที่เหลือ 40% แสงผ่านไม่ได้ ปัญหาดอกฝ่อ ปลายยอดดอกฝ่อ
- เกิดขึ้นได้หากอากาศร้อนจัดครับ ยิ่งร้อนมาก โอกาสปลายยอดดอกฝ่อ ก็มีมากตามขึ้นไป ป้องกันด้วยการ มุงซาแรนให้สูงจากปลายยอดกล้วยไม้ ขึ้นไปราว ๆ 1 เมตร (ผมกะเอานะครับ ลองเอาตามเหมาะสมครับ ไม่สูง มากไป ไม่ต่ำเกินไป ) ร่มเงาของซาแรนจะช่วยป้องกันความร้อนจากแดด ได้ทำให้ยอดดอกไม่ฝ่อ
- อีกหนึ่งสาเหตุคือเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอกครับ วิธีป้องกัน ลองอ่าน บทความเรื่อง เพลี้ยไฟ ดูนะครับ



ลิ้นมังกร, ปัดแดง Habenaria rhodocheila



ลิ้นมังกร, ปัดแดง Habenaria rhodocheila

       กล้วยไม้ลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila) จัดอยู่ในวงศ์ย่อยของ Habenaria ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลเดียวที่เรามักจะพบ ลิ้นมังกร หรือ ปัดแดง บานสะพรั่งอยู่ตามบริเวณโขดหินใกล้ ๆ น้ำตก ด้วยเสน่ห์ของสีสันอันหลากสี ทั้งสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีชมพู ไปจนกระทั่งสีโทนอ่อนเกือบจะเป็นสีขาว มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่มีเสน่ห์แสนเย้ายวน 
     ในฤดูแล้ง ลิ้นมังกร จะพักหัวของมันและคอยกักเก็บตุนสารอาหารไว้จนกระทั่งถึงฤดูกาลให้ดอกอีกครั้งในฤดูฝนต่อไป ในระหว่างพักตัวนี้ท่านที่เลี้ยง ลิ้นมังกร อยู่ อย่าพลั้งเผลอเข้าใจผิดทิ้งกระถางไปเสียนะครับ ไม่เช่นนั้น ลิ้นมังกร คงจากไปไม่รู้ลืมแน่ ๆ เชียว !
      ในบรรดา ลิ้นมังกร หลากหลายสี มีจำนวนหนึ่งที่มีรูปร่างของทรงต้นและลักษณะดอกที่แตกต่างออกไป เจ้า ลิ้นมังกร ประหลาดนี้ จะมีลักษณะของสีสันที่ต่างออกไป รวมไปถึงลักษณะ ดอกที่พิลึกกึกกือผ่าเหล่าไปจากพวกพ้อง ลิ้นมังกร ชนิดนี้มีชื่อในท้องถิ่นว่า ว่านยานกเว้ เป็น ลิ้นมังกร ที่อยู่ทางภาค ใต้ของเรานี่เองครับ ใบของ ว่านยานกเว้ จะต่างไปจาก ลิ้นมังกร ทั่ว ๆ ไปคือ มีลายจุด ในขณะที่ชนิดอื่นที่เราพบเห็นทั่ว ไปจะมีใบสีเขียวล้วน นอกจากนี้ดอกของ ว่านยานกเว้ ยังมีขนาดใหญ่กว่า ลิ้นมังกร ทั่วไปอีกด้วย ! 

การปลูกกล้วยไม้ลิ้นมังกร
สำหรับการปลูก ลิ้นมังกร นั้น นิยมใช้กระถางขนาดพอดีไม่ใหญ่เกินไป หากจำนวนหัวน้อยให้ปลูกลงในกระถาง เล็ก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หัว ลิ้นมังกร เน่าครับ เครื่องปลูกจะประกอบไปด้วย ทราย และกาบมะพร้าว หรือจะใช้ขี้เถ้าแกลบ ผสมลงไปด้วยก็ได้ครับ เน้นเครื่องปลูกให้โปร่ง ระบายน้ำได้ดี หากน้ำขัง หัวของ ลิ้นมังกร จะเน่าและตายในที่สุดครับ กระถางที่ปลูก ลิ้นมังกร ควรอยู่ในร่มรำไร ไม่ควรให้ถูกแดดแรง ๆ ลิ้นมังกร ชอบร่มรำไรประมาณ 40 - 60 % ครับ
     การขยายพันธุ์ ทำได้โดย 2 วิธี คือการแยกหน่อ หรือ หัวของ ลิ้นมังกร หรือ ด้วยการเพาะเมล็ดสำหรับการเพาะ เมล็ดนั้น ได้มีผู้บอกต่อกันไว้ หากนำเมล็ดของ ลิ้นมังกร เคาะลงบนเครื่องปลูกที่ปลูก ลิ้นมังกร อยู่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะ มี ลิ้นมังกร ต้นใหม่งอกขึ้นจากเมล็ดที่เราได้เคาะลงไปนั่นเองครับ ลองทำกันดูนะครับ

สำหรับวิธีการผสมเกสร กล้วยไม้ลิ้นมังกร ทำได้ดังต่อไปนี้ได้เลยครับ
1. หาไม้จิ้มฟันสะอาด ๆ หน่อยนะครับ มาไว้จิ้มเส้าเกสรตัวผู้
2. นำไม้จิ้มฟันที่หามาได้ เขี่ยบริเวณ หมายเลข 1 ในภาพครับ หากเขี่ยถูกเราจะได้เส้นอะไรบางอย่างยาว ๆ ติดไม้จิ้มฟันเรามา นั่นละครับ เส้าเกสรตัวผู้เขาละ (หมายเลข 2 นะครับ)
3. นำเส้าเกสรตัวผู้นี้ ถู ๆ ลงบน หมายเลข 3 ครับ ให้มีผงติดเยอะ ๆ หน่อย เท่านี้ ลิ้นมังกร ของเราก็พร้อมอุ้มท้อง เป็นแม่ไม้แล้วครับ









เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ







                                                        เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ

     หากกล่าวถึง คำว่า ใบกลม หรือ terete ในภาษาอังกฤษแล้ว ในแวด วงกล้วยไม้ มีความหมาย ถึงลักษณะของใบกล้วยไม้รูปร่างกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก ที่เมื่อตัดขวางใบแล้ว รอยตัดมีลักษณะกลม กล้วยไม้ใบกลมที่ดอกสวยงามที่มีลักษณะเด่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เอื้องโมก (Vanda teres syn. Papilionanthe teres) และ เอื้องโมกพรุ (Vanda hookeriana syn. Papilionanthe hookeriana)
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ใบกลมพันธุ์แท้ที่สวยงาม มีถิ่นกระจายพันธุ์ตั้งแต่ เชิงเขาทางด้านใต้ของภูมิภาค หิมาลัย กระจายพันธุ์ ลงมาถึงประเทศเมียนมาร์และไทยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ Sylhet .ในช่วงปี คศ. ๑๘oo โดย ดร. นาทาเนล วาลิช (Nathaniel Wallich) แห่งสวนพฤกษศาสตร์ กัลกัตต้า ประเทศอินเดีย (๑๘๑๕-๑๘๔๑)โดยในช่วงนั้นดร. วาลิช ได้เดินทางเก็บตัวอย่าง พันธุ์พืชหลายชนิดรวมถึง เอื้องโมก จากประเทศเนปาล
     ต่อมาเขาได้นำ เอื้องโมก กลับไปปลูกที่ประเทศอังกฤษ ในปี คศ . ๑๘๒๙ และต่อมาได้ออกดอกในปี คศ. ๑๘๓๓. และภายหลังนาย จอห์น ลินเลย์ (John Lindley) นักพฤกษศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษได้ศึกษาและจำแนกชนิดพันธุ์ เอื้องโมก จากตัวอย่างแห้งที่เก็บโดย ดร. วาลิช และลงตีพิมพ์ลงในวารสาร พฤกษศาสตร์ ชื่อ Genera and species of Orchidaceous Plants จนกระทั่ง ในปี คศ . ๑๙๗๔ . นาง เลสลี่ การ์เร่ (Leslie Garay) ได้เปลื่ยนชื่อสกุลของ เอื้องโมก จากสกุลแวนด้า มาใช้ชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท (Papilionanthe) ซึ่งชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท นี้เป็นชื่อเดิมที่ได้ถูกตั้งชื่อใช้เรียกขึ้นมาก่อนแล้ว โดยนาย ฟรายดริช ริชาร์ด รูดอฟ ชเล็คเตอร์(Friedrich Richard Rudolf Schlecter) นักพฤกษศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ ชาวเยอรมัน

  ทุกๆวันนี้ กล้วยไม้สกุล เอื้องโมก จะถูกจำแนกชนิดด้วยลักษณะใบที่กลมมน ซึ่งเป็นที่ยึดถือ ของบรรดานักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่ ภายหลัง ได้ถูกพิจารณาแบ่งแยกกล้วยไม้สกุลนี้ ออกมาจาก กล้วยไม้สกุลแวนด้า
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ที่มีต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ชอบขึ้นทอดลำต้นเลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ขนาดใหญ่ กล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดจัดชนิดนี้ อาจมีลำต้นสูงได้หลายเมตร แตกกอและหน่อแขนงได้ง่าย มีลักษณะต้นและใบ กลม เรียวเล็ก ตั้งตรง หรือ อาจโค้งได้ ในบางครั้ง เอื้องโมก จะแทงตาดอกออกตามข้อ ลำต้นช่วงข้อที่ใกล้กับส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ ๔ นิ้ว ในช่อมีดอกได้มากจำนวน ๓-๕ ดอก กลีบดอกสีชมพูขาว กลีบปากมีสีชมพู ที่หายากคือชนิดที่กลีบดอกสีชมพู แต่มีส่วนของกลีบปากสีเหลืองสด และจำนวนน้อยมากที่พบ ลักษณะกลีบดอกและปากสีขาวล้วนทั้งหมด
     โดยธรรมชาติ ในป่าเขตร้อน เอื้องโมก จะออกดอกได้ไม่เป็นฤดู และสามารถแทงดอกได้บ่อยครั้งต่อปี แล้วแต่แหล่งที่มาของ เอื้องโมก แต่ในสภาพ กึ่งเขตร้อน หรือในสภาพ การปลูกเลี้ยง ทั่วไป เอื้องโมก สามารถออกดอกได้ ๑-๒ ครั้ง ต่อปี ในช่วงเดือน มีนาคม -สิงหาคม

เอื้องโมกพรุ (Phapilionanthe hookeriana ชื่อพ้องเดิม=.Vanda hookeriana)


    เอื้องโมกพรุ เป็นกล้วยไม้ที่พบขึ้น ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ในบริเวณแหลมสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และภูมิภาคมาเลเซีย-แพนนิซูล่า นายโธมัส ล็อป และ นายฮัค โล ( Thosmas Lobb & Hugh Low )ได้เก็บตัวอย่างสายพันธุ์ เอื้องโมกพรุ ครั้งแรก จากเกาะบอร์เนียว ได้นำมาปลูกเลี้ยงและส่งต่อมายัง สวนพฤกษศาสตร์หลวง คิว แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) Royal Botanic Garden Kew โดยนายเฮช จี ริชเชนบิช (H. G.Reichenbach)ได้ศึกษาและ จำแนกชนิดพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้โดยในครั้งแรก ได้ถูกจัดให้ อยู่ในสกุล แวนด้า เช่นเดียวกับเอื้องโมก ต่อมาในภายหลัง หลังจากได้มีการศึกษาค้นคว้า อย่างละเอียด กล้วยไม้ชนิดนี้ ก็ถูกจัดให้กลับไปอยู่ในสกุล ปาปิลิโอเนนเท่ เช่นเดียวกับ เอื้องโมก ซึ่งชื่อสกุล Papilionanthe (Papilio แปลว่า ผี้เสื้อ- nanthe = ดูคล้าย) ชื่อสกุลนี้มาจากรากศัพท์ ภาษาละตินสองคำ มีหมายความถึงลักษณะของดอกที่ดูคล้ายผีเสื้อนั่นเอง
     ลักษณะภายนอกทั่วไป ลักษณะต้นคล้ายกันกับ เอื้องโมก ทุกประการ แต่ลำต้นและใบจะผอมบางกว่าเล็กน้อย ปลายใบมีรอยหยักคอดแหลมลักษณะคล้ายตะขอ อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ โดยคำว่าฮุกเคอเรียน่า หมายความถึงลักษณะปลายใบที่หยักแหลมคล้ายตะขอ
     ในธรรมชาติ เอื้องโมกพรุ สามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีลำต้นที่สูงมาก ฤดูออกดอกอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในธรรมชาติ ก็พบได้ว่า เอื้องโมกพรุ ออกดอกได้ไม่เป็นฤดู ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ก้านดอกออกตามข้อของลำต้นในบริเวณใกล้ส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ นิ้ว ในช่อมีจำนวนดอก๒-๔ ดอก กลีบดอกกลม สีโทน ชมพูอ่อน กลีบปากขนาดใหญ่กว้าง มีแต้มสีม่วงแดงเข้มชัดเจน

สายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสม ในกลุ่มสกุลเอื้องโมก

     รีเนนเทนด้า มอร์เจนรูท (Renantanda Morgenrood) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมในกลุ่มสกุล เอื้องโมก ชนิดแรกเป็นคู่ผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ รีเนนเทอร่า สตอริไอ(V.teres x Renanthera storei) จากเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ ในปี คศ. ๑๘๕๖. ผู้ขอจดทะเบียนคือ โจเซฟฟิน เวนบริโร (J.van Brero) อย่างไรก็ตามลูกผสมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่าง กว้างขวาง ได้แก่ แวนด้ามิสโจคิม (V. Miss Joaquim) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ เอื้องโมกพรุ( (V.teres x V.hookeriana) นายริดเลย์ (H.N.Ridley) ได้เป็นผู้ขอจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ในปี ค ศ.๑๘๙๓. ซึ่งกล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในการปลูกประดับตกแต่งประดับสวนเขตร้อน และดอกยังนิยมใช้ทำพวงมาลัยแบบฮาวาย และใช้ในการประดับตกแต่งอื่นๆทั่วไปอีกด้วย
     แวนด้ามิสโจคิม ได้ถูกนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผสมเพื่อสร้างสรรค์กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า๘๕สายพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่มีสายเลือดมิสโจคิม หนึ่งในจำนวนนั้นอาทิเช่น แวนด้า เมิอร์ แอล เวลทุยส์ (Vanda Merr L.Velthuis) ซึ่งได้ถูกนำผสมใช้ผสมต่อในชั้นหลังๆ จนได้ลูกผสมมากมายที่จดทะเบียนตั้งชื่อใหม่ถึง ๔o ชนิด
     เอื้องโมกพรุ ก็ได้ นำมาผสมข้ามชนิดข้ามสกุล จนได้ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆประมาณ ๒๕ ชนิด หลังจาก แวนด้ามิสโจคิม ยังมีกล้วยไม้ลูกผสมสายเลือด เอื้องโมกพรุ ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดี อีกเช่น แวนด้า คูเปอรี (V. Cooperi) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมกพรุ กับ แวนด้ามิสโจคิม (V.hookeriana x V.Miss Joaqium) ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ลูกผสม ชนิดใหม่ ในปี ค ศ . ๑๘๙๓.
     เอื้องโมก ก็ได้ถูกนำมาใช้ผสม และได้ ลูกผสมชนิดใหม่ๆมากกว่า ๘o ชนิด ลูกผสม เอื้องโมก ที่นับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ โจเซฟฟิน แวน บริวโร ( V.Josephine van Brero) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า อินซิกเน่ จากประเทศอินโดนีซีย (V.teres x V. insigne) กล้วยไม้ลูกผสม เอื้องโมก ชนิดนี้ได้จดทะเบียน ตั้งชื่อเป็นกลวยไม้ชนิดใหม่ เมื่อปี ค ศ. ๑๙๓๖ . จากลักษะเด่นของกลีบดอกสีม่วงชมพู กลีบปากสีส้มแดงเข้ม ลูกผสมชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างสรรค์ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ต่อเนื่องขึ้นมาอีก ไม่ต่ำกว่า ๑๒o ชนิด
     ลูกผสมอีกชนิดของ เอื้องโมก เช่น แวนด้า เอ็มมา แวน ดีเวนเตอร์ (V. Emma van Deventer) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า ไตรคัลเลอร์ จากประเทศอินโดนีเซีย (V.teres x V. tricolor) จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นลูกผสมชนิดใหม่โดยนาย แวน ดีเวนเตอร์ ในปี ค ศ . ๑๙๒๖ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้ได้ใช้เป็นพ่อแม่ในการผสมครั้งต่อมา และกล้วยไม้ลูกผสมใหม่ๆเกิดขึ้นมากว่า ๔o ชนิด รวมถึง แวนด้า แนลลี่ มอร์เลย์ ( V. Nellie Morley ) ซึ่งได้รับรางวัล เกียรตินิยมจากสมาคมกล้วยไม้อเมริกัน มากกว่า ๕๘ รางวัล ลูกผสม เอื้องโมก ต่างๆเหล่านี้ ได้ปลูกเลี้ยงและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม กล้วยไม้ตัดดอก อย่างแพร่หลาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกเลี้ยง เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ

     แสง : กล้วยไม้แวนด้าใบกลม และแวนด้าใบร่องลูกผสม เกือบทุกชนิด ชอบแสงแดดจัด เป็นปัจจัย ให้ผล ถึงนิสัยที่ออกดอกได้ตลอดปีแล้ว ในการออกดอกแต่ละครั้งยังให้ดอกจำนวนมาก ในแต่ละช่อได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับสภาพแวดล้อมให้นำเข้ามาปลูกในโรงเรือน หรือปลูกในอาคารในสถานที่เลี้ยงที่ต้องอาศัยแสงจากหลอดไฟ เช่นทาง ประเทศแถบยุโรปและเอมริกาเหนือ
     น้ำและความชื้น : กล้วยไม้ กลุ่มนี้ ชอบน้ำและความชื้นที่มากพอเพียง รดน้ำให้ชุ่มโชกวันละครั้ง ตอนเช้าเมื่อแสงแดดยังไม่จัด หากในช่วงที่อากาศแห้งมาก สามารถ เพิ่มการรดน้ำในช่วงค่ำได้อีกครั้ง และควรงดเว้นการให้น้ำในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด และควรจัดปลูกให้ภาชนะที่มีการระบายอากาศเพราะกล้วยไม้กลุ่มนี้เป็นกล้วยไม้ รากอากาศที่ชอบการระบายน้ำดี หาก เครื่องปลูกแฉะ เกินไปอาจทำให้เกิดอาการ รากเน่าได้
     ปุ๋ย : กล้วยไม้กลุ่มนี้มักชอบให้ใช้ปุ๋ยบ่อยครั้ง เหมาะกับให้ปุ๋ยเป็นประจำและสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์ ใช้ปุ๋ยเกร็ด ละลายน้ำ สตูรเสมอ 21-21-21 ฉีดพ่นบำรุงต้น ตามอัตราส่วนที่ระบุข้างฉลากของภาชนะที่บรรจุ อาจเสริมการให้ปุ๋ย สูตร ตัวกลางและตัวท้ายสูงในช่วงระยะที่กล้วยไม้อยู่ในช่วงฤดูออกดอก
     ภาชนะ : กล้วยไม้ชนิดนี้มักปลูกในกระถางดินเผา กระเช้าไม้สักแขวน หรือปลูกติดเสา ติดหลักไม้ วัสดุปลูกใช้ กาบมะพร้าว ถ่าน หรือ หินภูเขาไฟ กล้วยไม้กลุ่ม เอื้องโมก และลูกผสมนี้สามารถ ปลูกประดับ ตกแต่ง ในบริเวณสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม ของภูมิอากาศ แบบเขตร้อน ชื้น หรือ กึ่งร้อนชื้น โดยสามารถปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกเป็นกลุ่มๆ ปลูกรวมกันในภาชนะขนาดใหญ่ หรือปลูกลงแปลงได้ซึ่งเราจะได้ชื่นชมกับดอกสีสันสดใส ที่ออกได้บ่อยครั้งและบานทนนานกว่ากล้วยไม้กลางแจ้งชนิดอื่นๆ ซึ่ง สามารถ สร้างสรรค์บรรยากาศของสวนเขตร้อนให้กับสถานที่ของคุณได้เป็นอย่างดี


                                                        

เอื้อง เขากวางอ่อน ( Phalaenopsis cornu-cervi )


                                         เอื้อง เขากวางอ่อน ( Phalaenopsis cornu-cervi )


           เขากวางอ่อน เป็นสกุลย่อยของ Phalaenopsis เป็นกล้วยไม้ที่พบได้ตามป่าธรรมชาติในพืนแผ่นดินบ้านเราแทบทุกภาค มีเขตกระจายพันธุ์เกือบทุกภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ประเทศ อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปิน และ เกาะสุมาตรา ซึ่งแต่ละชนิดที่พบตามประเทศต่าง ๆ นั้นล้วนมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ที่ค้นพบ
ลักษณะทั่วไป เขากวางอ่อน เป็นกล้วยไม้ที่ให้ดอกทุกฤดูกาล โดยเฉพาะฤดู ร้อนและฤดูฝน จะเป็นฤดูที่ เขากวางอ่อน ให้ดอกมากที่สุด ส่วนในฤดูหนาวมักพบว่า เขากวางอ่อน จะให้ดอกน้อย หรือ ไม่ให้ดอกเลย ในธรรมชาติ พบว่า กล้วยไม้ชนิดนี้มักขึ้นบริเวณคาคบไม้ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 - 1000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชอบแสงรำไร และมีความชื้นรวมไปถึงบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ลักษณะดอก เขากวางอ่อน นับว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีสีสันของดอกหลากหลายอีกชนิดหนึ่ง ดอกของ เขากวางอ่อน นั้น พบได้ตั้งแต่มีลวดลายสีแดง ขีดพาดไปมาคล้ายลายของเสือโคร่ง ไปจนถึง สีเหลืองสนิด บางต้น มีลักษณะดอกแบบทูโทน กึ่งสองสี และบางต้น ก็มีสีแดงทั่วทั้งพื้นดอกซึ่งเป็นลักษณะพิเศษใช้ชื่อว่า เขากวางแดง ฟอร์ม ฉัตรดา เราลองไปดูภาพเขากวางแดง สีต่าง ๆ กันครับ

             การปลูกเลี้ยง เอื้อง เขากวางอ่อน
ในการปลูก เขากวางอ่อน นั้น สามารถปลูกโดยการนำไปติดกับขอนไม้ วิธีการติดกับขอนไม้นั้นทำได้ดังนี้
1. ล้างขอนไม้ที่จะนำ เขากวางอ่อน ไปติดให้สะอาด
2. ใช้วัสดุรองระหว่างขอนไม้กับ เขากวางอ่อน เช่น กาบมะพร้าว หรือ สเฟกนั่มมอส หรือ รากชายผ้าสีดา ทั้งนี้เพื่อให้วัสดุปลูกเหล่านั้นคอยกักเก็บความชื้นให้กับ เขากวางอ่อน เพื่อให้กล้วยไม้โตเร็วและมีรากที่ สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม **หากติดขอนไม้เพียว ๆ เขากวางอ่อน อาจจะมีต้นที่เล็กและโตช้าได้**
3. มัด เขากวางอ่อน กับขอนไม้ที่ใช้เป็นวัสดุปลูกให้แน่นด้วยเชือกฟางหรืออื่น ๆ แต่อย่าใช้ลวด เนื่องจากเส้นลวด อาจบาดต้นของ เขากวาง ได้ ทำให้เกิดแผลและโรคอื่น ๆ ตามมา หรือตายไปเลย
4. นำกล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้แขวนไว้ในร่มรำไร อย่าร่มมากเกินไปเช่น ใต้โรงรถยนต์ หรือบริเวณที่ทึบ ควรแขวนอยู่ ในบริเวณที่ที่โปร่ง มีแสงสว่างทอดถึง หรือใต้แสลน 80% เป็นต้น
5. รดน้ำวันละ 1 ครั้ง จะเช้าหรือเย็นแล้วแต่สะดวก หากจะให้ดีควรให้ปุ๋ยเป็นประจำทุก ๆ 1 สัปดาห์จะทำให้ กล้วยไม้ของเรา แข็งแรง สวยงาม มากยิ่งขึ้น
6. รอดูดอกได้เลยครับ อิอิ

        ***สำหรับกระถางแขวน ทำเช่นเดียวกับการปลูกติดกับขอนไม้ เปลี่ยนเป็นนำวัสดุปลูกรองพื้นในกระถางก่อน แล้วทำตามข้อ 3 ลงมาได้เลยครับ***

          สำหรับการดูแลไม้นิ้วและไม้ออกขวดใหม่นั้นทำได้ดังนี้
1. หลังจากออกขวด ควรนำลูกไม้ปลูกลงในตะกร้า โดยมีสเฟกนั่มมอสรองพื้น รดน้ำโดยการพ่นให้เป็นฝอยละ เอียดเพื่อไม่ให้ใบลูกไม้ช้ำ คุมความชื้นให้ดี อย่าให้แฉะเกินไป ลูกไม้อาจจะเน่าตายได้
2. ฉีดพ่นยากันรา 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย การให้ปุ๋ยให้แบบเจือจางอย่าเข้มจนเกินไปเพราะอาจทำให้ ใบของลูกไม้เน่าได้ โดยสลับสูตร ตัวหน้าสูง กลางสูง สลับสัปดาห์ ให้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
3. พยายามระวังฝน หากฝนตกถูกลูกไม้โดยตรงกล้วยไม้อาจช้ำและตายได้
4. สำหรับไม้นิ้ว ปฎิบัติเช่นเดียวกันกับไม้ออกขวดครับ




ไม้นิ้ว เอื้องมอนไข่ Dendrobium thyrsiflorum



                                                 ไม้นิ้ว เอื้องมอนไข่ Dendrobium thyrsiflorum


ประเภทพันธุ์ไม้ : ไม้นิ้ว / สกุลหวาย
ประเภทสินค้า : กล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้

      เอื้องมอนไข่เป็นกล้วยไม้ สกุลหวายไทยพันธุ์แท้ มีถิ่นกำเนิด ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กระจายพันธุ์ ไปถึงบางส่วนของประเทศเวียดนาม กล้วยไม้ชนิดนี้ เป็นกล้วยไม้ขนาดกลาง ไปถึงขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเลี้ยงสมบูรณ์เต็มที่จะแตกเป็นกอได้และมีความสูง ของลำลูกกล้วยได้ประมาณ ๑๒-๒o นิ้ว ลักษณะต้นเป็นลำยาว มีใบ๒-๓ ใบสีเขียวเข้มรูปทรงใบเป็นรูปรี เกิดตรงส่วนปลายของลำลูกกล้วย มักแทงช่อดอกตรงส่วนปลายของลำ ดอกลักษณะเป็นช่อรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดอกเล็กขนาด๓ซม.เกิดเวียนรอบก้านดอกคล้ายตาสัปปะรด กลีบดอกสีขาว กลีบปากเป็นสีเหลืองตรงใจกลางดอก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ดอกบานประมาณ๑-๒สัปดาห์
     ในปัจจุบันกล้วยไม้ ชนิดนี้ถูก เก็บออกมาจากป่าในสภาพกล้วยไมใ้ป่า นำมาขายเป็นกำ เป็นกิโล จนอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์จากแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ ซึ่งกล้วยไม้ป่าส่วนใหญ่ถึงแม้จะมีราคาถูก และสภาพดูต้นโตอวบอ้วนสมบูรณ์จากในป่า แต่มักจะปลูกเลี้ยงค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยเวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมทั้งอากาศและอุณภูมิที่แตกต่างจากในป่าที่ถูกเก็บมา หากปรับตัวไม่ได้หรือดูแลไม่ดีเพียงพอกล้วยไม้ป่าเหล่านั้นมักจะมีหน่อ ลำลูกกล้วย และใบเล็กแกร็นลง และตายไปในปีหลังๆครับ
     กล้วยไม้นิ้วเอื้องมอนไข่ ชุดนี้ เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายกว่า เอื้องมอนไข่ที่ถูกเก็บมาจากป่ามาก เป็นชุดที่ผสมจากต้นพ่อแม่พันธุ์ คัดต้นสวยดอกดกช่อยาว ของทางออร์คิดทรอปิคอลเองครับ เพราะเป็นกล้วยไม้ที่ได้ผสมเพาะเลี้ยงในสภาพโรงเรือน ซึ่งต้นพันธุ์ สามารถปรับตัวให้ปลูกเลี้ยงในที่อากาศร้อนได้ ทุกภูมิภาคของไทย ได้มีกานนำกล้วยไม้ชนิดนี้ ปลูกเลี้ยงที่จังหวัดจันทบุรี ก็ได้ผลดีเช่นกันครับ
      การปลูกเลี้ยง ควรใช้เครื่องปลูกที่ระบายน้ำได้ดี เช่นถ่านผสมกับกาบมะพร้าวสับ หรือรากเฟินชายผ้าสีดาหั่นเป็นชิ้น สถานที่ปลูก ควรมีแสงรำไร อากาศถ่ายเทสะดวก ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ อาจใช้สลับกับปุ๋ยสูตรตัวกลางตัวท้ายสูง ตามอัตราส่วนอาทิตย์ละครั้ง สารเคมีป้องกันเชื้อรา ฉีดพ่นสลับกันเป็นระยะ การดูแลที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ จะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว และออกดอกสวยงามครับ หากนำไปเปลื่ยน ย้ายปลูกลงในกระถาง ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกระถางกล้วยไม้ กลม หรือสี่เหลื่ยมขนาด๓นิ้วครึ่ง ก็จะทำให้ต้นเจริญเติบโตเร็วแทงรากใหม่ได้หน่อต้นใหม่ที่โตขึ้นและสูงกว่าเดิมครับ



เอื้องเขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)





                                          เอื้องเขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)

เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)
     ในพื้นที่ป่าโปร่งผลัดใบคงไม่มีเอื้องชนิดไหนที่มีความงามเทียบเท่ากับ เขาแกะ กล้วยไม้สกุลช้าง(Rhynchostylis)อีกแล้วก็เป็นได้ครับ
     เช่นเดียวกับรองเท้านารีที่ถูกเรียกชื่อตามรูปลักษณ์ดอกอันแสนแปลกของมัน เขาแกะ เองก็เป็นหนึ่งในกล้วยไม้ที่ถูกเรียกชื่อตามลักษณะที่พบเห็น เพียงแต่ เขาแกะ ไม่ได้ถูกตั้งชื่อเพราะดอกเหมือนเขาของแกะ แต่เป็นเพราะใบที่โค้งงอสลับกันไปมาซ้ายขวาที่เหมือนเขาของของแกะเอื้องชนิดนี้เลยได้รับฉายาว่า เขาแกะ ไปโดยไม่รู้ตัว
     ชื่อวิทยาศาสตร์ของ เขาแกะ คือ Rhynchostylis coelestis มันเป็นกล้วยไม้สกุลช้างอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ในบ้านเรา เขาแกะ ในธรรมชาติเรามักพบ เขาแกะ ได้ทั่วไปบนคาคบไม้เตี้ย-สูงในป่าโปร่งร้อน เขาแกะ นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่ทนร้อนได้อย่างสุด ๆ ครั้งหนึ่งผมได้เดินทางไปยังต่างอำเภออันแร้นแค้น ป่าไม้เป็นป่าโปร่งผลัดใบแม้แต่หญ้าบนพื้นก็แห้งเหี่ยว มีต้นไม้ยืนต้นตายหลายต่อหลายต้น
แต่เมื่อมองขึ้นบนยอดไม้ที่ยังพอมีชีวิตหลงเหลืออยู่บ้างก็พบกับเจ้า เขาแกะ ยืนต้นท้าแสงแดดอันร้อนระอุอย่างไม่สะทกสะท้าน ผมมั่นใจมากว่า เขาแกะ ที่ผมเห็นในตอนนี้ต้องตายในไม่ช้า แต่สองปีให้หลังผมก็ได้เดินทางไปยังป่าแห่งนี้อีกครั้ง และเดินไปยังโคนต้นไม้ต้นเดิมแล้วเงยหน้าขึ้น มันน่าตกใจจริง ๆ ครับ เขาแกะ ต้นเดิมกลับแตกหน่อมีดอกบานสะพรั่งสวยงามจนน่าตกใจ และเมื่อลองเดินสำรวจป่าระแวกนี้ดูผมก็พบว่ามี เขาแกะ น้อยใหญ่เติบโตขึ้นบนกิ่งไม้ที่ถูกแดดฟาดอย่างจังอย่างน่าตกใจ นับได้ว่า เขาแกะ เป็นราชาทนร้อนของจริงเลยละครับ
     ในทางภาคเหนือ เราอาจจะได้ยินคำว่า เอื้องขี้หมา จนติดหู มันเป็นชื่อเรียกของ เขาแกะ อีกชื่อที่เราอาจไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ เขาแกะ ยังมีชื่อเล่นอื่น ๆ อีกว่า เอื้องเขาควาย แล้วยังได้รับฉายาเป็นชื่อแบบอินเตอร์อีกด้วยว่า Blue Foxtail แปลได้เท่ ๆ ว่า จิ้งจอกหางน้ำเงิน
     ด้วยลักษณะของช่อที่ตั้งยาวขึ้น เขาแกะ จึงเป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่นักพัฒนากล้วยไม้ทั้งไทยและนอก เขาแกะ ถูกนำไปผสมกับกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์เช่น แวนดา เข็ม และไม่แน่ว่าบางครั้งเราอาจพบกับลูกผสมของ เขาแกะ ตั้งตระหง่านสวยงามอยู่ตรงหน้าโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ลักษณะทั่วไปของ เขาแกะ
ลำต้น เขาแกะ มีรูปทรงใบเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างเตี้ย ตั้งตรง เจริญเติบโตทางยอด
ใบ ออกเรียงสลับซ้ายขวา โคนใบเป็นแผงชิดกันแน่น ปลายใบโค้งลงเล็กน้อย มองดูคล้าย เขาแกะ หรือเขาควาย แผ่นใบบางและเหนียวห่อเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร
ดอก เป็นช่อตั้งตรง ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกเบียดกันแน่น ขนาดดอกราว 1.5-2.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขนานแกมรูปไข่ กลีบทั้ง 5 กลีบมีสีขาว ขอบกลีบมีขลิบเป็นสีม่วงคราม บางต้นอาจมีสีออกไปทางแดง หรือไปทางสีน้ำเงินก็มี ปลายกลีบมน กลีบปากรูปลิ่ม มีเดือย ดอกแบนและปลายโค้งลง ดอกบานทนนาน ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีกลิ่นหอม ช่วงเวลาที่ออกดอก คือฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 
แหล่งกระจายพันธุ์ เขาแกะ มีแหล่งกระจายพันธุ์บริเวณป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งผลัดใบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยพบในทุกภาคยกเว้นภาคใต้

เทคนิคการเลี้ยง เขาแกะ
- ในการปลูกเลี้ยง เขาแกะ นิยมปลูกเลียนแบบธรรมชาติ เช่นติดกับขอนไม้ ใส่กระเช้า หรือ นำไปติดบนต้นไม้ใหญ่ก็ได้ครับ เขาแกะ เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างชอบแสงแดด ดังนั้นอย่านำไปแขวนไว้บริเวณที่ร่มจัดเกินไปนะครับ เพราะอาจจะไม่ได้ดูดอกและเผลอ ๆ จะเน่าตายได้ครับ เอาละลองดูวิธีปลูกของผมกันดูนะครับ
◇ ก่อนอื่นหากเป็นไม้ดิบ ให้ตัดรากแห้งทิ้งให้หมดครับ
◇ หากใส่กระเช้า ผมแนะนำกระถางพลาสติก 4นิ้ว ขนาดกำลังเหมาะพอดีครับ
◇ หากเป็นขอนไม้ หาขนาดพอเหมาะไม่ต้องใหญ่มาก หากติดต้นไม้....หาจุดเหมาะ ๆ โดยดูทิศทางแสงให้ดีอย่าได้ร่มไปครับ
◇ วิธีใส่ เขาแกะ ลงในกระเช้า 4นิ้ว ให้พยายามเรียงรากลงกระถางให้ได้ครับโดยเราอาจต้องจับสอดทีละเส้นเพื่อให้รากผ่านรูของกระเช้าลงไป พอใส่ได้แล้ว เราอาจจะนำกาบมะพร้าวแช่น้ำแล้ว มาสอดใส่ใต้รากรองไว้ระหว่างกระเช้ากับรากของ เขาแกะ ก็ได้ครับ เพื่อให้ได้รับความชื้นที่เหมาะสมและทำให้รากใหม่แตกเร็วขึ้น
◇ ในกรณีเกาะขอนไม้ ให้เราหาเชือกฟาง ฟิว หรือสายโทรศัพท์ มายึดเขาแกะกับขอนไม้ให้แน่น จัดทรงต้นให้ตั้งขึ้นแล้วใช้ฟิวหรืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้ยึดให้ทรงต้นไม่ล้ม หากมั่นคงดีแล้วก็นำไปแขวนในร่มรำไร หรือใต้สแลนพลางแสง รอไม้พักตัวครับ
◇ ระหว่างไม้พักตัว ให้รดน้ำเวลาเดียวเช่นเดียวกับกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ โดยจะเป็นเวลาเช้า หรือ เย็น ให้เพียงเวลาเดียว เวลาไหนก็ได้ครับยกเว้นบ่าย
◇ เมื่อรากเกาะเดินดีแล้ว ถึงแม้จะเป็นไม้ป่าก็ตามก็ควรจะให้ปุ๋ยบ้างเพราะมาอยู่ในเมืองอาหารการกินก็ต้องปรับตามครับ สูตรที่แนะนำคือ 21-21-21 เป็นสูตรเสมอมาตรฐาน ควรฉีดพ่นทุกสัปดาห์ เมื่อถึงเวลาให้ดอก เขาแกะ จะผลิดดอกออกงามประทับใจเราเลยทีเดียว

กรณีไม้ขวด ไม้เลี้ยง
- กล้วยไม้ขวด หรือ ไม้เลี้ยง มักไม่ค่อยมีปัญหามาก ลักษณะการปลูกขึ้นกระเช้าสามารถทำได้เช่นเดียวกับกล้วยไม้ทุกชนิดครับ ในการอนุบาลไม้นิ้ว หรือ ไม้ออกขวดใหม่ เราอาจจะใช้ปุ๋ย ตัวหน้าสูงอย่าง 30-20-10 บำรุงสลับกับ สูตรเสมอ 21-21-21 บ้างเพื่อให้ไม้โตเร็วขึ้นครับ หากใครไม่ทราบว่าต้องหนีบนิ้วลูกไม้อย่างไร ลองอ่านหน้า วิธีการหนีบนิ้วลูกไม้ที่หน้าบทความกล้วยไม้ทั่วไป <http://www.orchidtropical.com/articleid21.php>ดูนะครับ 



เอื้องหนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )




                                                เอื้องหนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )

หนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )
     หนวดพราหมณ์ แต่เดิมเป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในสกุลของกุหลาบ Aerides และถูกเปลี่ยน เป็นสกุล Seidenfadenia ในภายหลัง
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Seidenfadenia ซึ่งได้รับการตั้งชื่อให้เป็นเกรียติ์แด่ ท่าน Gunnar Seidenfaden ชาวเดนมาร์ก อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และเป็นผู้ทำการศึกษา และตีพิมพ์ผลงานวิชาการเกี่ยวกับ กล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานของท่านเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย พืชวงศ์กล้วยไม้ ส่วนคำระบุชนิด mitrata แปลว่าที่สวมศีรษะหรือหมวกทรงสูงสำหรับพระในคริสต์ศาสนา ซึ่งอาจหมายถึงลักษณะโดยรวมของเส้าเกสรที่ดูคล้ายกับที่สวมศรีษะนั่นเองครับ 
     ในประเทศไทยเราสามารถพบกล้วยไม้ หนวดพราหมณ์ ได้ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 350 - 1,500 ม. ด้วยลักษณะของใบที่ห้อยยาวลงมาจากคาคบไม้สูงมองดูราวกับเส้นผมของนักพรตที่สกปรกรุงรังจึงมีเรื่องเล่าอันน่าพิศวงต่อ ๆ กัน ว่ากันว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งที่ตกใจวิ่งออกมาจากป่าภายหลังออกหาเก็บของป่าพร้อมกับเสียงตื่นตระหนกว่าพบกับผีพลายตนหนึ่งในป่ายามพลบค่ำ ชาวบ้านต่างตื่นตกใจเกรงว่าผีพลายจะมาทำร้ายเด็ก ๆ ใน หมู่บ้านจึงได้ปรึกษาและได้ออกตามหาผีพลายตนดังกล่าวเพื่อใช้วิธีทางศัยศาสตร์เข้าจัดการ แต่เมื่อเดินทางไปยังจุดที่เคยพบกับผีพลาย สิ่งที่ชาวบ้านพบมีเพียงต้นไม้ที่หักลง บนตอที่หักโค่นนั่น มีกอ ขนาดใหญ่ของต้นกล้วยไม้ที่กำลังแทงช่ออวดเบ่งดอกขนาดเล็กสีชมพูชูของมันบนก้านช่อทรงสวยงาม ราวกับช่อของดอกไม้ที่ถูกประดับประดาบนแจกันขนาดใหญ่ ใบของดอกไม้มีทรวดทรงยาวยุ้งเหยิง เมื่อถูกลมพัด ใบของมันก็พริ้วไหวไปตามสายลม มองดูราวกับเส้นผมของคนไม่ผิดเพี้ยน ข้อสงสัยเรื่องผีพลายของชาวบ้านจึงถูกไขออก กล้วยไม้ชนิดนี้จึงได้ชื่ออีกนามว่า "เอื้องผมผีพลาย"
นอกจากนี้ หนวดพราหมณ์ ยังมีชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ อีกว่า เอื้องผมเงือก และ เอื้องกุหลาบสระบุรี ซึ่งก็ได้รับการตั้งชื่อตามความเรื่องเล่าและแหล่งที่พบตามลำดับ 
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เลี้ยงง่าย เนื่องจากชอบอากาศร้อนจึงสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปยังจังหวัดปทุมทานี และได้แวะเข้าไปยังส่วนของ นวนคร พื่นที่ที่ผมได้ไปเยือนส่วนใหญ่เป็นตึกสูงของหอพักเสียส่วนใหญ่ และบนห้องพักของตึกตึกหนึ่งผมก็ได้พับกับ หนวดพราหมณ์ กอสวยที่กำลังออกดอกสวยงาม ซึ่งคาดว่าเจ้าของคงได้นำไปปลูกประดับไว้ตรงบริเวณริมระเบียง น่าเหลือเชื่อ ที่กลางเมืองตึกสูงอากาศร้อนอบอ้าวเพียงนั้น หนวดพราหมณ์ ก็สามารถแตกกอสวยงามได้ นับได้ว่า หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและให้ดอกได้อย่างง่ายดายครับ

ลักษณะของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยลำต้นยาว 3-5 ซม.รากจำนวนมากออกที่โคนต้น ลักษณะอวบยาวใบจำนวน 3-5ใบ รูปทรงกระบอกยาวสีเขียวเข้ม ปลายเรียวแหลมเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนกว้างสุดประมาณ 0.5 ซม. ยาว 10-40 ซม. ใบของ หนวดพราหมณ์ ห้อยลู่ลงด้านบนเป็นร่องตามยาว 
ลักษณะดอกของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบช่อตั้งขึ้นก้านช่อยาว 13-20 ซม. ดอกของ หนวดพราหมณ์ เรียงค่อนข้างแน่น มีกลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1.5 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาว ปลายกลีบสีม่วง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบดอกสีขาว ขอบกลีบอาจมีสีม่วงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบปากสีม่วงแกมแดง กลางกลีบสีจางกว่า กลีบรูปรีแกมรูปไข่ ปลายกลีบเว้าตื้น โคนกลีบแต่ละข้างมีติ่งขนาดเล็ก ฝาปิดกลุ่มเรณูสีม่วงเข้ม หนวดพราหมณ์ ให้ดอกช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน เมษายน- พฤษภาคม ดอกของ หนวดพราหมณ์ มีกลิ่นหอม หากปลูกเป็นกอจะส่งกลิ่นหอมโชยพัดตามลมครับ 

การปลูกเลี้ยง หนวดพราหมณ์ 
- การปลูก สามารถปลูกโดยการห้อยหัวลง หรือ ทำให้ห้อยลงมาได้ครับ หรือปลูกจับลำตั้งขึ้นก็ได้ครับ
- การรดน้ำ หนวดพราหมณ์ ควรรดเวลาเดียวช่วงเช้าตรู่ หรือ ช่วงเย็น เท่านั้น หนวดพราหมณ์ ที่ปลูกใหม่ ยังไม่ควรให้ถูกแสงแดดจัดมากเกินไปเพราะอาจทำให้ตายได้ครับ
- หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงค่อนข้างมาก เมื่อรากเดินดีแล้วควรค่อย ๆ ขยับเข้าหาแสงแดดบ้าง เช่นถูกแสงแดดช่วงเช้า ๆ หรือ ช่วงเย็นหลัง 4 โมง เป็นต้น แสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ หนวดพราหมณ์ ได้ปรุงอาหาร สะสมเตรียมไว้สำหรับออกดอกครับ หากไม่ได้รับแสงที่เพียงพอ หนวดพราหมณ์ จะไม่ค่อยให้ดอก หรือ ให้ดอกไม่ดกครับ
- ปุ๋ยสำหรับ หนวดพราหมณ์ ควรให้ทุกสัปดาห์ สูตรปุ๋ยไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราปลูกครับ แต่ปุ๋ยที่ต้องให้นั้นคือปุ๋ยสูตรเสมอ เพื่อให้ หนวดพราหมณ์ ได้มีอาหารสะสมและแตกกอสวยงามครับ
- หาก หนวดพราหมณ์ ไม่ให้ดอก หรือ ลำต้นแคระแกรน ให้พึงพิจารณาเรื่องแสงครับ 
       **แต่โดยรวม หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายครับ เพียงหมั่นรดน้ำทุกวันก็แตกกอสวยให้ดอกงดงามแล้วครับ แต่หากขยันให้ปุ๋ยเป็นอาหารเสริมด้วยแล้วละก็ หนวดพราหมณ์ จะยิ่งให้ดอกดกขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าเชียว ท่านที่ปลูก หนวดพราหมณ์ ได้อ่านบทความ นี้แล้วได้ผลเช่นไรอย่าลืมนำภาพดอกของ หนวดพราหมณ์ สวย ๆ มาแบ่งกันชมได้ในเว็บบอร์ดนะครับ !






กล้วยไม้ดิน Spathoglottis









                                 กล้วยไม้ดิน Spathoglottis

      สปาโตกลอสติส เป็นกล้วยไม้ดินสกุลหนึ่งที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่าง แพร่หลาย กล้วยไม้สกุลนี้มีจำนวนมากกว่า๔๐ชนิด ( species ) ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดีย ศรีลังกา ทางตอนใต้ของจีน มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก กล้วยไม้สกุลนี้มีความสำคัญในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักในวงการกล้วยไม้ทั่ว โลก กล้วยไม้สกุลนี้หลายชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เช่นเหลืองพิสมร( Spathoglottis lobii ) มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก ขาวพิสมร( Spathoglottis pubescens ) มีถิ่นกำเนิดทาง ภาคอิสาน กล้วยไม้ดินใบหมาก( Spathoglottis plicata ) มี ถิ่นกำเนิดทางภาคใต้
     กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ปรกติเราเรียกว่า “กล้วยไม้ดิน” แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงสกุลหนึ่งของกล้วยไม้ดินเท่านั้น ยังมีกล้วยไม้ดิน สกุลอื่นอีกหลายชนิด สปาโตกลอสติส มีการเจริญเติบโตแบบ Sympodial มีลำลูกกล้วยป้อม และมีข้อถี่ๆ ลักษณะใบเป็นใบยาวปลายเรียวแหลมโค้ง นอกจากนี้ยังมีรอยจีบ ตามแนวความยาวของใบคล้ายต้นอ่อนของพวกปาล์ม ช่อดอกออกจากฐานของแกนใบก้านช่อยาวและผอมเรียวมีดอกออกเป็นกลุ่มที่ปลายช่อ กลีบดอก มีขนาดเท่าๆ กัน ดอกบานผึ่งผายหูปากทั้งสองค่อนข้างแคบ และโค้งขึ้นทั้งสองข้าง แผ่นปากจะแคบและมีเขี้ยวเล็กๆ ข้างละอันและส่วนบน ของโคนปากมีปุ่มสองปุ่มอยู่คู่กัน บางชนิดที่ปุ่มจะมีขนปกคลุมที่ปลายแผ่นกลีบ ปากผายกว้างออกและบางชนิด ปลายกลีบปากจะเว้า เส้าเกสรจะผอมด้านปลาย จะกว้างและโค้งลงเล็กน้อย เกสรตัวผู้มีสองชุด ชุดละ ๔เม็ด
     สปาโตกลอสติสเป็นกล้วยไม้ ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี พบว่าต้นที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรง ในหนึ่งหัวสามารถ ออกดอกได้๑-๓ ก้านช่อดอกก้านช่อยาว เฉลี่ย ๓๐-๑๒๐ ซม. (ในชนิดพันธุ์ใหญ่) มีดอกประมาณ ๓๐ ดอกขึ้นไป ต่อช่อดอกทยอยบานพร้อมกันเป็นชุดๆ ตั้งแต่๓-๑ๆ ดอก และบานติดต่อกันได้นาน๓-๖ เดือน แล้วแต่ชนิดพันธุ์

พันธุ์และลักษณะประจำพันธุ์
      Spathoglottis plicata พันธุ์นี้พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย กลีบนอกทั้งสามกลีบดูคล้ายกัน และกางทำมุมอย่างเป็นระเบียบกลีบดอกคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกเล็กน้อยโคนปาก แคบ หูปากทั้งสองข้างแบน และโค้งขึ้นปลายแผ่นปากกว้างส่วนโคนปากมีเขี้ยวสั้นๆข้างละอัน ด้านบน มีติ่งสีเหลืองสองติ่งและมีจุดเล็กๆขึ้นประปราย ที่เขี้ยวทั้งสองข้างมี ขนอ่อนๆ กลีบดอกสีม่วง หูปากทั้งสองข้างมีสีม่วงเข้ม ปุ่มกลางแผ่นปากมี สีเหลือง เนื่องจาก พันธุ์นี้มีความหลากหลายของสีต่างๆมากจึงได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ต่างๆหลายสายพันธุ์ก็คือ
1 . กลุ่มที่ดอกสีม่วงสด
1.1 var. aureicallus ปุ่มกลางปากทั้งสองปุ่มมีสีม่วงสด หูปากทั้งสองข้าง สีม่วงเหลือบด้วยสีเหลือง
1.2 var. moluccana เป็นพันธุ์ที่มีต้นใหญ่กว่าพันธุ์ธรรมดา ปุ่มที่ปากสีเหลืองเข้ม
2 . กลุ่มที่มีดอกสีขาว
2.1 var. penangwhite หรือเรียกว่าขาวปีนัง ดอกสีขาวบริสุทธิ์ หูปากและปุ่มที่ปากทั้งสองข้าง มีสีเหลืองเข้ม
2.2 var. alba ลักษณะดอกคล้ายกับพันธุ์ธรรมดา แต่ดอกมีสีขาว หูปากทั้งสองข้างสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่โคนปาก สีเหลือง
2.3 var. pallidissima แผ่นปากมีสีเหลืองเจือสีม่วงอ่อนๆจน เกือบมองไม่เห็น ปุ่มที่ปากสีเหลือง เข้ม หูปากทั้ง สองข้าง สีเหลืองจางมาก กลีบดอกกลีบในปลายเรียวแหลม
3. กลุ่มสีม่วงอ่อนหรือสีชมพู
3.1 var. vieillardii เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นใหญ่โตมาก ช่อดอกยาว กลีบดอกสีม่วงชมพูจางๆ หูปากทั้งสองข้างสีส้ม ปนน้ำตาล ปุ่มปากทั้งสองข้างสีเหลืองสดมีประจุดเล็กๆสีส้มเข้มแผ่นปากหักงอชัดเจน และปลายปากสีส้ม เข้มเท่ากลีบดอก
3.2 var.purpureolobus ทรงต้นใหญ่โตเหมือนพันธุ์แรกแต่กลีบดอกสีม่วงเข้มกว่า หูปากสีม่วงเข้มปุ่มที่ปากสี เหลืองจาง ปลายแผ่นปากสีม่วง ชมพูเข้ม
3.3 var. pallidilobus ทรงต้นพอๆกับพันธุ์ธรรมดา กลีบนอกกว้างกว่ากลีบคู่ในหูปากทั้งสองข้าง มีสีม่วงชมพู มี แต้มสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่ปากสีเหลืองจาง
๏ Spathoglottis lobii ( เหลืองพิสมร ) เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ดอกมีสีเหลืองก้านช่อดอกยาวประมาณ๓๐-๕๐ ซม. ปากมีสี เหลืองโคนปากมีสีเหลืองอมส้มดูเด่นชัด ทิ้งใบในฤดูแล้ง
๏ Spathoglosttis pubescens ( ขาวพิสมร ) พันธุ์นี้พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกสีขาวกลีบคู่ในมีลักษณะใหญ่กว่ากลีบคู่นอก โคนปากมีปุ่มสีเหลืองเข้ม ปลายปากเว้าเล็กน้อย ทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง
๏ Spathoglottis kimballiana ( เหลืองฟิลิปปินส์ ) ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในแถบบอร์เนียวก้านช่อดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อโค้ง ใบของหน่อที่แตกใหม่สีเขียว อมม่วง ใบแคบและยาวหัวมีขนาดเล็ก
๏ Spathoglottis parsonii ดอกขนาดใหญ่ กลีบนอกสีเหลืออ่อน ปลายกลีบประสีม่วง กลีบคู่ในมีสีม่วงปลายกลีบมีแต้มสีขาวเป็นวง ปากสีม่วงโคนปากสีเหลือง เมื่อดอกตูมมีสีอมม่วง
๏ Spathoglottis vanoverberghii ดอกสีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ กลีบคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกมากดอกมีขนาดเล็ก มักทิ้งใบในฤดูแล้ง

        ลักษณะนิสัยของกล้วยไม้ดินสกุล Spathoglottis
1)สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีแสงตลอดวันไปจนถึงร่มแต่จะดีที่สุดเมื่อมีการพรางแสง๓๐-๗๐ %
2)อุณภูมิที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง ๑๕-๒๕ องศาเซลเซียส ถ้าอุณภูมิต่ำมากจะทิ้งใบและพักตัว
3)ชอบวัสดุปลูกระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้พอสมควร มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์
4)ชอบที่โปร่งอากาศถ่ายเทและไม่มีลมโกรกมากนัก
5)ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยละลายช้าเหมาะสมที่สุด การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก จะทำให้ใบไหม้และลำต้นเน่าได

๏ วัสดุปลูก
วัสดุปลูกของกล้วยไม้สกุลนี้ สามารถผสมใช้ได้หลายอย่าง ไม่มีสูตรตายตัวแต่ควรมีหลักคำนึง ดังนี้
1) มีความโปร่ง เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี และอากาศถ่ายเทสะดวก
2) ปราศจากโรคและแมลง
3) หาง่ายราคาถูกมีมากในท้องถิ่น
4) ไม่เป็นพิษกับต้นไม้
5) มีแร่ธาตุอาหารตามสมควร
6) ควรเป็นวัสดุเก่า ผ่านการย่อยสลายมาบ้างแล้ว
สำรับวัสดุที่จะนำมาผสมเป็นเครื่องปลูกนั้นมีหลายชนิด เช่น กาบมะพร้าวสับ,ใบก้ามปู, ใบสน,เปลือกถั่วลิสง, แกลบ, ถ่าน, อิฐ, ขี้เถ้าแกลบ, ดิน, ทรายหยาบ, ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก ฯลฯ

๏ การผสมวัสดุปลูก สามารถ ผสมได้หลายสูตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เช่น สภาพโรงเรือน ภาพดินฟ้าอากาศ การดูแลรักษา หากว่าปลูกในโรงเรือนมีการพรางแสง มีหลังคาพลาสติก มีโต๊ะ สำรับตั้งกระถางควรใช้วัสดุปลูกที่เบา (ไม่ใช้ดิน) ทั้งนี้พอจะยกตัวอย่าง สูตรผสมวัสดุปลูก ดังนี้
สูตรที่ ๑ : : ดินร่วน / กาบมะพร้าวสับ/ แกลบดิบ อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๒ : : ดินร่วน / แกลบดิบ / ปุ๋ยคอก/ เปลือกถั่ว อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๓ : : ใบก้ามปู /ปุ๋ยคอก / เปลือกถั่ว / กาบมะพร้าวสับ อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๔ : : ถ่าน/ เปลือกถั่ว / แกลบดิบ /ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๕ : : กาบมะพร้าว / ใบสน / ใบก้ามปู / แกลบ / เปลือกถั่ว อัตราส่วน ๒ : ๑ : ๑ : ๑ : ๒

การขยายพันธุ์
การขยายพันธ์โดยการแยกหน่อเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุดช่วงเวลาที่ เหมาะสม ก็คือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน สำรบช่วงฤดูหนาวไม่นิยมทำกันเพราะกล้วยไม้จะทิ้งใบ มีโอกาสตายสูงมาก เนื่องจากกำลังพักตัววิธีการแยกหน่อ
เริ่มจากการนำกล้วยไม้ออกกระถาง เขย่าเบาๆ ให้วัสดุปลูกร่วงหล่นให้มากที่สุด จากนั้นให้ พิจารณาดูลักษณะการแตกหน่อ ของแต่ละลำ ใช้มีดหรือกรรไกร ตัดแยกโดยให้มีหน่อใหม่และลำเก่าติดมาด้วย ๑-๒ ลำจะทำให้ต้นที่แยกออกมาเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็วขึ้น นำหน่อที่แยกไว้มาลงปลูกให้วัสดุปลูกที่เตรียมไว้เสร็จแล้วรดน้ำ ผสมฮอร์โมน เร่งรากแล้วรดตามด้วยยาฆ่าเชื้อรา
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
กล้วยไม้ดินนี้เป็นดอกสมบูรณ์เพศคือมีเกสรตัวและเกสรตัวเมียในดอกเดียวกันใน ธรรมชาติการผสมเกสรเกิดขึ้นจากแมลง การผสมเกสรอาจเป็นการผสมตัวเอง หรือข้ามพันธุ์ก็ได้ หลังการผสมพันธุ์ ดอกจะพัฒนาเป็นฝัก อายุของฝักไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และการดูแลรักษา และชนิดพันธุ์ โดยเฉลี่ยอายุฝักจะอยู่ที่ ๓๐-๖๐ วัน เมื่อฝักแก่ตัวฝักจะแตกออก ภายในจะมีเมล็ดเป็นผงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการเพาะที่ง่ายที่สุดคือ การโรยเมล็ดลง ในกระถางต้นแม่พันธุ์ แต่การเหลือรอดมีน้อย อีกวิธีหนึ่งคือการเพาะลงบนอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ทัน สมัย สะดวกที่สุดคือการตัดฝักส่งให้หน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการรับจ้างเพาะโดย ทั่วไปจะใช้เวลาในการเพาะจนเป็นต้นกล้าในขวดวุ้นประมาณ ๗-๑๐ เดือน ก็สามารถนำกล้วยไม้ขวดออกอนุบาลได้

วิธีการนำต้นกล้วยไม้ออกจากขวดและการปลูก
กล้วยไม้ที่พร้อมออกจากขวด มีข้อสังเกตุได้คือมีใบจริง๒-๔ใบ ปลายใบชนขวดราก เจริญเต็มที่ อาหารในขวดหมดแล้ว
วิธีการมีดังนี้
1) ใช้กะละมังใส่น้ำไว้ประมาณ ครึ่งนึงของความสูงจากขอบ
2) ใช้ของแข็งทุบตรงก้นขวดให้แตกออก
3) เทต้นกล้ากล้วยไม้ลงในตระกร้าพลาสติก( ขนาดเล็กกว่าภาชนะใส่น้ำ)
4) นำตระกร้าไปแช่น้ำในกะละมัง เขย่าเบาๆหรือ หรืออาจใช้น้ำฉีดเบาๆก็ได้ เพื่อล้างวุ้นออกให้หมด
5) นำกล้ากล้วยไม้ที่ล้างวุ้นสะอาดแล้วมาแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา
6) ผึ่งกล้ากล้วยไม้ในที่ร่มพอหมาดๆ
7) ปลูกกล้ากล้วยไม้ในถาดหลุมสำรับเพาะกล้ามีทั้งที่เป็นพลาสติกและโฟม
8) นำกาบมะพร้าวสับที่แช่น้ำไว้จนหมดรสฝาดแล้ว เป็นวัสดุปลูกต้นกล้ากล้วยไม้โดยปลูกหลุมละ๑ ต้น
9) นำต้นกล้าไปไว้ในโรงที่พรางแสง๖๐-๘๐ %
10) ใช้น้ำผสมวิตามินบี๑ รดน้ำทุกวันในอาทิตย์แรก
11) รดน้ำถี่ในช่วงอาทิตย์แรก อาทิตย์ถัดไปรดน้ำ ๒ วันต่อครั้ง
12 ) หลังจากย้ายปลูก ๑๕-๒๐ วันเริ่มให้ปุ๋ยฉีดพ่นแบบเจือจาง
13) หลังจากที่ดูแลอยู่ในถาดหลุมประมาณ๒-๓เดือน ต้นกล้าจะโตพอที่จะแยกลงปลูก ในกระถาง๖ นิ้ว หรือ ๘ นิ้ว
14) เมื่อย้ายปลูกในกระถางปล่อยให้ตั้งตัว๑๐-๑๕ วัน จึงใส่ปุ๋ยละลายช้า สูตร ๑๔-๑๔-๑๔ หรือสูตรเสมออื่นๆ กระถางละ ๑ ช้อนชา
15) รวมระยะเวลาที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นอนุบาลต้นอ่อนจากขวด จนเริ่มออกดอกแรก ใช้เวลาประมาณ ๗-๑๐ เดือน

การดูแลรักษา
     การให้น้ำ ควรใช้น้ำสะอาด ระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำก็คือเช้าและเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินทั้งนี้ ก็เพราะว่าจะทำให้ต้นกล้วยไม้แห้งก่อนมืด พื่อลดปัญหาโรค ลำต้นเน่าได้ ควรใช้บัวรดน้ำที่มีฝอยละเอียด เพื่อป้องกันมิให้ใบเสียหาย ในช่วงฤดูร้อนควรฉีดพ่นน้ำที่พื้นโรงเรือน เพื่อ เพิ่มความชื้นและช่วยลดอุณภูมิในโรงเรือนสำรับช่วงฤดูฝนให้สังเกตุวัสดุปลูก ว่า ยังมีความชื้นอยู่หรือไม่ ในช่วงฝนตกมากอาจไม่จำเป็น ต้องรดน้ำเลยก็ได้
     การกำจัดวัชพืช สำรับวัสดุปลูกที่ใช้ดินจะมีปัญหามาก กับเรื่องวัชพืชที่อาจติดมา กับปุ๋ยคอก กำจัดโดยใช้มือถอน การใช้แกลบดิบ เปลือกถั่ว หรือ มะพร้าวสับคลุมดิน จะช่วยลด ปัญหานี้ได้
     การจัดวางกระถาง ในฤดูฝนความชื้นในอากาศสูง ควร ตั้งกระถางให้ห่างกันเป็นการลดการสะสมความชื้นป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ กล้วยไม้ดิน ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ ควรทำชั้นวางโดยยกให้สูงจากพื้น๓๐-๕๐ ซม. ชั้นวางอาจทำจากไม้ไผ่ตีเป็นซี่ๆ หรือ ตระแกรง เหล็กก็ได้เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีบริเวณก้นกระถาง

การใส่ปุ๋ย
• ไม่ควรใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ที่แยกหน่อใหม่ๆหรือเพิ่งออกจากขวด
• การใช้ปุ๋ยเกร็ดละลาย น้ำฉีดพ่นควรใช้ในอัตราส่วนที่เจือจาง
• การให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สามารถกระทำได้หลังจากย้ายปลูกจนกล้วยไม้ตั้งตัวดีแล้ว
• เมื่อต้นไม้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเร่งดอก เช่น สูตร ๑๓-๒๖-๗
• ควรงดปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดทุกชนิดเช่น ยูเรีย เพื่อ ป้องกันกล้วยไม้ดินเน่าที่โคนได้
• การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกๆ๒-๓ เดือน กระถางละ๑-๒ ช้อนจะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว

โรค และแมลง
- โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา โรคนี้พบว่าพบระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศมีสูง เครื่องปลูกระบายน้ำได้ไม่ดี โรงเรือนไม่มีอากาศถ่ายเท มีการใช้ปุ๋ยที่ไนโตรเจนสูงติดต่อกันเวลานาน การป้องกันกำจัด
1) แยกต้นที่เป็นโรคออกมาทำลายทิ้งเสีย
2) ใช้วัสดุปลูกที่สะอาดและระบายน้ำได้ดี
3) ทำชั้นวางเพื่อให้ลมโกรกและอากาศถ่ายเทพื้นก้นกระถาง
4) หากเป็นไปได้ควรทำโรงเรือนหลังคาพลาสติก
5) ใช้ยาเทอราคลอ ผสมน้ำรดโคนต้น
6) การโรยปูนโดโลไรท์ ที่โคนต้นช่วยป้องกันได้
7) งดการให้น้ำชั่วคราว

- โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อราใบจะเป็นแผลกลมๆ สีน้ำตาล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆ สามารถทำลายดอกได้ด้วย การป้องกันกำจัด
1) ตัดใบและช่อดอกทำลายเสีย
2) ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แบนเลท, ออร์โธไซด์ ไดเทนเอ็ม ทุกๆ ๕-๗ วัน ถ้าพบว่าโรคระบาด

- เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีดำแพร่ระบาดในฤดูร้อน พบการทำลายมากที่ดอกเมื่อเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงจะทำให้ดอกมีสีซีดการป้องกัน กำจัดโดยสารเคมี เช่น พอสซ์ แลนเนท ฯลฯ
- แมลงเต่าทอง ตัวเต็มวัยของเต่าทองจะทำลาย และกัดกินดอกและออกไข่ที่ช่อดอก เมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนมีลักษณะ เหมือนหนอนจะกัดกินทำลายช่อดอก ทำให้เกิดความ เสียหาย การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีเช่น แลนเนท เซฟวิน อโซดริน ฯลฯ

การปรับปรุงพันธุ์
กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่างตามลักษณะของแต่ละพันธุ์ เช่น ทำเป็นไม้กระถาง ( Pot plant ) ใช้จัดสวนประดับสถานที่ ( Land scape ) รวมถึงทำเป็นไม้ตัดดอก ( Cut flower ) ก็สามารถทำได้ การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมตัวใหม่ๆออกมามากมาย ทั้งในสิงค์โปร์ ฮาวาย ฮอลแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย จนถึงขณะนี้มีผู้จดทะเบียนลูกผสมกล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสแล้ว มากกว่า ๖๐ สายพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้มีดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ในดอกเดียวกัน สามารถ ผสมตัวเอง และข้ามต้นพันธุ์ หรืออาจผสมข้ามสกุลก็ได้

วิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ดิน
จากประสบการณ์ ควรจะใช้ช่วงเวลาในตอนเช้า ที่แสงแดดยังไม่จัด ช่วงเวลาประมาณ ๗.๐๐-๙.๐๐ นาฬิกา เลือกดอกที่บานได้๒-๓ วันจากต้นที่มีความสมบูรณ์ และควรเป็นดอกที่อยู่โคนช่อ เพราะดอกที่อยู่ปลายช่อมักจะให้ฝักขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ เมื่อดอกที่จะใช้ เป็นแม่พันธ์ ได้แล้วให้เด็ดกลีบปากออก แล้วเขี่ยเกสรตัวผู้ในดอกออกทิ้ง จากนั้นเลือกนำเกสรที่จะใช้ เป็นพ่อพันธุ์ จากอีกดอกหนึ่งโดยพิจารณาจากสี ฟอร์มดอกฯลฯ เขี่ยเกสรตัวผู้จากดอกที่ต้องการ นำไป ติดไว้ที่แอ่งเกสรตัวเมีย เมื่อตรวจสอบดูแลความเรียบร้อย ทำการติดป้ายชื่อระบุชื่อพ่อ และแม่พันธุ์วันที่ทำการผสม ควรผสมครั้งละ๒-๓ ดอกต่อช่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่นมีแมลงมากัดทำลายหรือฝักแตก อายุการถือฝักจะแตกต่างกันไป เช่นฤดูร้อนฝักจะมีอายุสั้น ฤดูหนาวฝักจะมีอายุนานกว่า ฤดูร้อนเล็กน้อย อายุฝักโดยเฉลี่ยประมาณ ๑ เดือน หรือ ๒ เดือนในบางชนิด ปํยหาที่พบเกี่ยวกับอายุฝักกล้วยไม้ชนิดนี้คือฝักจะแก่และแตกเร็วมาก

เทคนิคการยืดอายุฝัก (ทำให้ฝักแตกช้าลง)
1) งดใส่ปุ๋ย
2) ผสมกล้วยไม้ในช่วงฤดูหนาว
3) เพิ่มความชื้นให้กับฝัก โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดเล็กหุ้มฝักไว้
4) อาจใช้ตู้อบเพิ่มความชื้น เช่นเดียวกับการปลูกบอนสี(ควรระวังเรื่องโรคด้วย)
5) ย้ายต้นมาไว้ในที่ร่มให้ถูกแสงแดดน้อยที่สุด

ในประเทศไทยได้มีการผสมข้ามชนิดของกล้วยไม้สกุลนี้มาช้านานแล้วทำให้เกิดต้นลูกผสมหลากสีสรรที่ส่วนใหญ่มักไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานกล่าวคือไม่สามารถบอกได้ว่าลูกผสมต้นใดเกิดจากพ่อแม่ต้นใด ทำให้เกิดปัญหา ในการเรียกชื่อสายพันธุ์

ธาโปบาเนียร์ สปาธูลา



                               

                                                          ธาโปบาเนียร์ สปาธูลา


แวนดา สปาธูลาตา ( Vanda Spathulata ) หรือ ( Taprobanea spathulata ) สปาธูลาตา แต่เดิมได้รับให้จัดอยู่ในสกุลของ แวนดา (Vanda) ต่อมาได้มีการจัดกลุ่มใหม่ สปาธูลาตา จึงถูกย้าย ให้ไปอยู่ในสกุลของ ( Taprobanea ) จึงกลายเป็นชื่อ Taprobanea spathulata ครับ 
      เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับ สปาธูลาตา โดย อ. ระพี สาคริก ท่านได้กล่าวเรื่องราวของ สปาธูลาตา ไว้ว่า กล้วยไม้ชนิดนี้พบที่ประเทศ อินเดีย และ ศรีลังกา (ซีลอน) ครับ นอกจากนี้ ยังมีข้อความจาก อ.ระพี สาคริก ใน คอลัมป์ หอมกลิ่นกล้วยไม้ ของ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก โดยเนื้อหามีดังนี้
     " แวนดา สแปธูลาต้า (Vanda spathulata) เป็นแวนดาใบแบนที่มีรูปทรงต้นแปลกกว่าแวนดาใบแบนชนิดอื่น มีทรง ต้นคล้ายกล้วยไม้สกุล อะแรคนิส (Arachnis) และ เรแนนเธอร่า (Renanthera) ซึ่งมีทรงต้นสูงโปร่ง ช่วงระยะระหว่าง ใบต่อใบห่าง ปล้องยาว ใบสั้นกว่าแวนดาใบแบนอื่น และอาจมีประจุดสีม่วงประปรายตามริมและพื้นใบ พบตามธรรมชาติเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ในลักษณะภูมิประเทศโปร่ง มีแสงแดดมาก ช่อดอกยาว 20-40 ซม. แข็งและ ตั้ง มีดอกหลายดอก ออกจากส่วนที่ค่อนไปทางด้านปลายช่อ แม้ว่าจะมีดอกหลายดอก แต่ก็บานครั้งละ 1-3 ดอก โดยไล่จากดอกล่างๆ ขึ้นไปหาปลายยอดของช่อดอก มีขนาดโตประมาณ 3 ซม. สีเหลืองสะอาด เนื้อกลีบและสี ละเอียด 
 ต้นพันธุ์สปาธูลาตาต้นเก่าแก่ที่สวนชิเนนทร มีขนาดกอใหญ่และให้ดอกทุกปี เลี้ยงแสงแดดจัดถึง ๑๐๐%
ลักษณะทั่วๆ ไปของดอก แผ่นและบานผึ่งผาย ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนสวยงาม หูปากทั้งสองข้างมีขนาดเล็ก สีเหลือง มีแต้มสีน้ำตาลอมแดง โคนปากเป็นกรวยแคบลงไปจรดเดือยดอก เป็นแวนดาที่มีดอกงามเด่น " ปัจจุบัน สปาธูลาตา ในธรรมชาติลดน้อยลงจนน่าตกใจ ในประเทศไทยเราไม่มีการค้นพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้อีก ในขณะ ที่ประเทศอินเดียเริ่มให้ความสำคัญกับ สปาธูลาตา ถึงขนาดให้เป็นพันธุ์ไม้เฝ้าระวังโดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด 

ฤดูกาลให้ดอกของ สปาธูลาตา สปาธูลาตา มักให้ดอกในช่วงท้ายปี ไปจนถึง ต้นปี ซึ่งจะอยู่ราว ๆ ธันวาคม - กุมภาพันธ์
การปลูกเลี้ยง สปาธูลาตา
สำหรับผมแล้ว หลังจากได้รู้จักกับเจ้า สปาธูลาตา ที่สวนของคุณชิเนนทร ทำให้ผมรู้สึกว่า สปาธูลาตา ไม่ได้เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงยากอย่างที่คิด สปาธูลาตา มีนิสัยที่ชอบแสงแดดมาก ๆ ที่สวนชิเนนทร ปลูกเลี้ยงโดยได้รับแสงแดดเต็มที่ 100% ตลอดวัน สปาธูลาตา สามารถเติบโตชูก้านแตกใบสวยงาม เมื่อลองนำ สปาธูลาตา ไปเลี้ยงในร่ม กลับพบว่าใบและต้นอวบสวยขึ้นแต่ทว่า สปาธูลาตา กลับ ไม่ยอมให้ดอก อาจเป็นเพราะว่า สปาธูลาตา เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงจัดก็เป็นได้การนำไปเลี้ยงในร่มจึงทำให้สปาธูลาตาไม่สามารถเก็บกักตุนอาหารไม่เพียงพอ ในธรรมชาติเช่นก็เช่นเดียวกัน ในตำรา กล้วยไม้ต่างแดนหลายเล่มบันทึกไว้ว่าพบสปาธูลาตาในบริเวณโล่งแจ้ง เติบโตได้ดีในเขตร้อน

Tip : สปาธูลาตา เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะลำคล้ายเถาวัลย์หากหั่นลำเป็นท่อนจะสามารถแบ่งจำนวนได้โดยง่ายดาย



ตอติเล Dendrobium tortile





                                                              ตอติเล Dendrobium tortile

     ลองมาเอ่ยถึงเอื้องสายที่ให้ดอกหน้าตาแปลกๆแล้วละก็ คงต้องยกให้เจ้า ตอติเล กันละครับ ด้วยลักษณะของกลีบดอกที่เล็กเรียวแหลมที่บิดริ้วจนแทบจะคล้ายคลึงกับริบบิ้นที่ใช้ผูกห่อของขวัญ ประกอบกับปากดอกอันม้วนกลมเหมือนขนมเมล่อนที่แสนจะพิลึกพิลั่น ตอติเล จึงเป็นกล้วยไม้ติดอันดับโหวตเอื้องสายแปลกของพวกเราชาวออร์คิดทรอปิคอลครับ
     ตอติเล จัดเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ชื่อวิทยาศาสตร์ของ ตอติเล คือ Dendrobium tortile (เดน-โดร-เบียม-ตอ-ติ-เล) และยังมีอีกชื่อที่ถูกตั้งโดยคนไทยเราเองนี่แหละครับว่า Twisted Dendrobium ซึ่งความหมายออกมาก็คงจะราว ๆ ว่า หวายบิด ครับ ตอติเล เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่เติบโตบนคาคบไม้สูงซึ่งหาได้ในป่าดิบในบ้านเราครับ นอกจากนี้ ตอติเล ยังมีสายพันธุ์กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเซียของเราตั้งแต่ อินเดีย บังกลาเทศ เกาะอันดามัน มาเลเซีย พม่า ไทย ลาว และ เวียดนาม เติบโตบนพื้นที่ความสูง ๑,๒๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็กลับพบว่า ตอติเล นั้นสามารถเลี้ยงในที่ที่มีอากาศร้อนได้แม้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง ๑๕๐ เมตร นับได้ว่า ตอติเล เป็นกล้วยไม้ที่สามารถปรับตัวได้เก่งจริง ๆ ครับ

ในบ้านเรา ตอติเล ถูกเรียกในอีกหลาย ๆ ชื่อ เช่น เอื้องไม้ตึง เอื้องตีนนก และ เก๊ากิ่วแม่สะเรียง ซึ่งชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างออกไปนี้อาจจะมีที่มามาจากรูปลักษณ์ของดอก หรือสถานที่ที่พบ ตอติเล ก็เป็นได้ครับ
     ลักษณะทั่วไปของ ตอติเล เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย มีลำลูกกล้วยสูงประมาณ ๑๐ - ๓๐ เซนติเมตร โคนเรียวคอด แตกหน่อเจริญเติบโตทางด้านข้าง ใบออกเรียงสลับตามข้อต้น ออกดอกตามข้อใกล้ปลายยอด โดยตาดอกหนึ่งดอกจะให้ดอก ๒ - ๓ ดอก กลีบดอกเป็นสีม่วงอมชมพู โดยมีกลีบปากห่อคล้ายปากแตร มีลักษณะเป็นสีขาวนวลและมีเส้นสีม่วงขีดเป็นลายอยู่ ดอกกว้าง ๖ - ๗ เซนติเมตร ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายนของทุกปี ดอกของ ตอติเล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

วิธีการปลูกเลี้ยงเอื้องสาย ตอติเล
     ปกติแล้ว ตอติเล นิยมปลูกในกระเช้าไม้ หรือ กระเช้าพลาสติก ๔ นิ้ว ครับ บางครั้งเราก็นำปลูกติดกับขอนไม้ซึ่งจะทำให้ดู ตอติเล ยามให้ดอกเป็นธรรมชาติที่สุดครับ
๑. ในการปลูก ตอติเล ให้เราเตรียมภาชนะในการปลูก เช่น กระเช้าไม้ กระเช้าพลาสติก หรือ ขอนไม้ ให้พร้อม
๒. นำกาบมะพร้าวที่ผ่านการแช่น้ำไว้แล้วอย่างน้อย ๒-๓ คืน มาเตรียมไว้ครับ ต้องแช่น้ำก่อนนะครับ ถ้าไม่แช่ ยางเลนินในพร้าวจะทำให้ ตอติเล ที่เราจะปลูกรากไม่ยอมเดินไปนานเลยครับ
๓. ถ่าน ให้ตัดเป็นก้อนเล็ก ๆ เหมือนกับรูปร่างของลูกเต๋า เอาให้ใหญ่กว่าขนาดรูของกระเช้านะครับ ถ้าเล็กกว่าจะหลุดออกรูหมด อย่าใช้ถ่านก้อนใหญ่หรือลักษณะไม่เป็นทรงนะครับ เหตุผลคือ มันไม่เป็นระเบียบ ปลูกแล้วดูรกครับ
๔. นำถ่านที่ทำเป็นก้อนเล็ก ๆ วางรองพื้นกระเช้าพลาสติก หรือ กระเช้าไม้ให้เป็นระเบียบสวยงาม
๕. นำกาบมะพร้าววางเรียงตัวกันให้สวยงามครับ เอาให้พื้นขนานเท่ากันเลยครับ อย่าใส่จนล้นกระเช้านะครับ เอาให้ถึงคอกระเช้าพอสวยงามพอ
๖. ให้เรานำ ตอติเล ของเราวางลงบนกาบมะพร้าว รากมันจะวางบนพอดีเลย ซึ่งตรงนี้หลายคนคงคิดว่ามันจะต้องหล่นแน่ ๆ ให้เราหาเชือกมามัดกิ่งก้าน ตอติเล ไว้ครับ มันจะเหมือนกับ ตอติเล นั่งอยู่บนกาบมะพร้าวพอดี
****เหตุผลที่เราไม่ฝังราก ตอติเล ลงกาบมะพร้าวเพราะว่า ถ้าฝังรากแล้วละก็ ตอติเล จะเน่าได้ง่ายครับ ปกติกล้วยไม้จะมีรากเกาะบนเปลือกไม้อยู่แล้วไม่ใช่ฝังโคนลงบนเปลือกไม้ครับ****
๗. หาที่ร่มรำไร รดน้ำเพียงเวลาเดียวคือ เช้า หรือ เย็น อย่ารดสาย เพราะจะทำให้ใบเน่าโคนเน่าได้ครับ
๘. สำหรับท่านที่นำติดขอนไม้ ให้นำกาบมะพร้าวรองนาบระหว่างขอนไม้กับรากของ ตอติเล แล้วมัดด้วยเชือกหรือฟิวให้แน่น อย่าให้ขยับหลวมได้ครับ แล้วนำแขวนไว้ในที่ร่มรำไร รอเวลาให้รากเดิน

วิธีดูแลให้ ตอติเล ออกดอกงามทุกปี
๑. ผู้เลี้ยงต้องหมั่นรดน้ำ ตอติเล ทุกวันในช่วงที่ฝนไม่ตก เพื่อให้ต้นแข็งแรงได้อ้วนท้วนสมบูรณ์
๒. ถ้าเป็นไปได้ให้ใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง โดยปกติทางสวนเราจะใช้สูตรเสมอเช่น ๒๑-๒๑-๒๑ ครับ
๓. ดูแลแบบนี้ไปทุกวันจนกระทั่ง ตอติเล เริ่มแทงดอกผลิบาน เห็นดอกแล้วก็สุขใจคุ้มค่าที่เราดูแลครับ