วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โอโนมานู Dendrobium superbum var.anosmum

                                        โอโนมานู Dendrobium superbum var.anosmum


   
              โอโนมานู จัดได้ว่าเป็นสายหลวงชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อของ โอโนมานู ที่เราเรียกกันใน ปัจจุบันนั้นเริ่มต้นมาจากประเทศฮาวายครับ ชื่อของ โอโนมานู นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า Honohono ซึ่งเป็นชื่อเรียกใน ท้องทิ่นของพืชวงศ์ผักปลาบชนิดหนึ่ง และด้วยผักปลาบชนิดนี้มีหน้าตาไปคล้ายคลึงกับ โอโนมานู ขณะยังไม่ทิ้งใบ ชาวฮาวายก็เลยเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้เสียเลยว่า Honohono ไม่ก็ Okika honohono ครับ ซึ่งพอกล้วยไม้ชนิดนี้เข้ามา ในเมืองไทยเลยโดนกร่อนเสียงจนกลายเป็นคำว่า โอโนมานู ไม่ก็เรียกสั้น ๆ กันว่า โอโน นั่นเองครับ
     เมื่อเราลองมาสังเกตุดูรูปร่างหน้าตาของ โอโนมานู กับ สายหลวงของไทยและลาวแล้ว เจ้า โอโนมานู คงต้อง แปลกกว่าอย่างแน่นอน เนื่องจากลักษณะดอกของเจ้า โอโนมานู จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย สีสันชมพูชัดกว่า บริเวณปาก โอโนมานู จะมีปากที่ม้วนกลม ปกปิดด้วงตากลมแดงไว้ด้านใน และมีปลายจวักแหลมเล็กน้อยตรงปลาย ปาก ในขณะที่ สายหลวงไทย และสายหลวงลาว ปากจะบานกว้าง
ออกเผยให้เห็นดวงตากลมแดงชัดเจน เว้นแต่สายหลวงใต้บ้านเราที่ปากจะม้วนคล้าย โอโนมานู แต่สีสันและขนาดของดอกกลับด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
     สีสันของเจ้า โอโนมานู หรือ สายหลวงฟิลิปปินส์ นอกจากสีชมพูออกบานเย็นหน่อย ๆ แล้ว เรายังพบสีประหลาด ๆ อีก 2 - 3 สี คือ สีขาวล้วน หรือเผือก สีขาวตาแดง เซมิอัลบา และ เซมิอัลบา แบบ ลายด่าง ซึ่งเป็นของชาวต่างชาติชื่อ Callman Au, Mililani ได้รับรางวัล CCM HOS ถึง 83.2 คะแนน นับได้ว่าเป็น โอโนมานู ที่สวยที่สุดก็ว่าได้ครับ

             ฤดูกาลให้ดอก ของ โอโนมานู จะแตกต่างจากสาย หลวงบ้านเราเล็กน้อย โอโนมานู มักให้ดอกในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม แต่ส่วนใหญ่จะบานกันในช่วง กุมภาพันธ์ เสียมากกว่า โดยก่อนให้ดอก โอโนมานู จะ ทิ้งใบล่อนจ้อน หลังจากให้ดอกแล้ว โอโนมานู ก็จะเริ่ม แทงหน่อใหม่ซึ่งหน่อใหม่นี้จะให้ดอกในปีถัดไป นั่นเอง กลิ่นของ โอโนมานู นั้นหอมหวานมาก แตกต่างจาก สายหลวงบ้านเราเล็กน้อย ส่วนตัวผมคิดว่า โอโนมานู กลิ่นหอมแรงกว่า สายหลวงของแถบบ้านเราครับ ลอง พิสูจน์กันดูนะครับ
            วิธีการปลูก สายหลวง โอโนมานู หรือ สายหลวงฟิลิปปินส์
เนื่องจาก โอโนมานู เป็นกล้วยไม้ที่มาจากแถบฟิลิปปินส์ จึงเป็นกล้วยไม้ที่อยู่บ้านเราได้สบายหายห่วง เลี้ยงกันได้ ตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียวครับ อ้อ ผมลืมบอกไป สายหลวง โอโนมานู ให้ดอกที่ดกและแน่นกว่าสายหลวงแถบบ้าน เราด้วยนะครับ นอกเรื่องมาเยอะละ มาดูวิธีปลูกกันดีกว่า

       การปลูกสายหลวง โอโนมานู ปลูกได้ 2 วิธี คือจับลำตั้งขึ้น กับ ปล่อยห้อยหัวลง
๏ สำหรับการจับลำตั้งขึ้นนั้น ผู้ปลูกต้องหมั่นคอยใช้เชือก หรือ ฟิวส์ มัดลำต้นให้ตั้งขี้นครับ หากไม่คอยยึดเป็นจุด ๆ ลำ โอโนมานู จะหักได้ การจำลำตั้งขึ้น มีข้อดีคือ เวลายกไปโชว์ดอก จะดูเป็นระเบียบดี แค่นั้นเองครับ แล้วแต่คนชอบ ครับ

๏ ส่วนการปลูกแบบห้อยหัวลง ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เราก็ปลูกในกระเช้าแล้วปล่อยมันเลื้อยเรื่อยเปื่อยไป หรือจะ ปลูกติดขอนไม้ก็สวยดีครับ การปลูกติดกับขอนไม้ ให้นำขอนไม้แช่น้ำแล้วขัดให้สะอาดเพื่อกำจัดไข่ของแมลง หรือตัว อ่อนแมลงซึ่งอาจจะมากัดกินราก โอโนมานู ของเราในภายหลังได้ครับ เมื่อมั่นใจว่าสะอาดดีแล้ว ให้นำ กาบมะพร้าว ที่แช่น้ำไว้แล้ว 1-2 คืน มาวางขั้นกลางระหว่าง ขอนไม้กับ โอโนมานู แล้วจับกล้วยไม้ของเรา มัดกับขอนไม้ให้แน่น กาบมะพร้าวจะคอยเป็นเครื่องปลูกที่ช่วยเพิ่มความชื้นทำให้กล้วยไม้ของเราโตเร็วขึ้นครับ และเมื่อทิ้งไปนาน ๆ กาบ มะพร้าวจะผุเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยอีกด้วย
**เครื่องปลูกสำหรับ โอโนมานู ในกระเช้า ควรประกอบไปด้วย ถ่าน 60% กาบมะพร้าวสับ 40% หรือ จะสลับมาก น้อย ยังไงก็ได้ครับ แล้วแต่ชอบ หวายตัวนี้เลี้ยงไม่ยาก ขออย่าปลูกลงดินเป็นอันใช้ได้ครับ !
** โอโนมานู ชอบแสงประมาณ 50 - 60 % ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น