เอื้องสามปอย
ปอย เป็นคำพื้นเมืองของชาวเหนือ ซึ่งใช้เรียกงานประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานบุญ ในฤดูของงานปอยนั้นมักจะ จัดขึ้นในช่วงต้นของฤดูร้อนและในบางครั้งอาจ ยาวติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้ชนิดหนึ่งให้ ดอกผลิบานส่งกลิ่นหอมอบอวนอยู่พอดี หญิงสาวชาวเหนือจึงเด็ดดอกของกล้วยไม้ที่หอมรัญจวนนี้ นำมาเหน็บ ประดับติดไว้กับมวยผมของตน กล้วยไม้ชนิดนี้จึงถูกขนานนามโดยชาวเหนือว่า สามปอย ซึ่งมีความหมายคือ เอื้อง อันงดงามที่เบ่งบานได้ยาวนานตลอดยามงานปอยทั้งสามฤดูของพวกเขานั่นเอง
สามปอยเอื้องเมืองเหนือที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของกลิ่นหอมเย้ายวน มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมอย่าง แพร่หลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในต่างประเทศสามปอย และลูกผสมจากสามปอยเป็นกล้วยไม้สีเหลืองยอดฮิต ติดตลาดรองจากฟ้ามุ่ยและลูกผสมของฟ้ามุ่ย และสายพันธุ์แท้นี้ก็ยังมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มันเป็นที่จับตา มองของเหล่านักเลี้ยงกล้วยไม้ต่างชาติหลายคน เหล่าผู้คนแดนตะวันตกจึงต่างพากันอิจฉาเมืองร้อนอย่างไทยเรา ที่มีสามปอยหลากหลายสายพันธุ์ไว้ครอบครอง
ผมได้เดินทางไปสืบเสาะหาสามปอยหลากหลายพื้นที่ และได้ ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสามปอยจากนักเลี้ยงกล้วยไม้ ระดับเซียนสามปอยเก่าแก่หลายคน หนึ่งในนั้นคือคุณชิเนนทร เซียนสามปอยที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่มายาวนานมากกว่า ๕๐ ปี ท่านได้เล่าเรื่องความหลังเกี่ยวกับสามปอยและแยกลักษณะสาม ปอยแต่ละสายพันธุ์ให้ผมฟัง
สามปอยนก หรือที่ถูกเรียกในนาม สามปอยหางปลา เป็นสามปอยที่มีขนาดเล็กที่สุด กลีบดอกทั้งห้ากลีบเล็กเรียวและส่วนกลีบดอกที่ดูคล้ายปีกนั้นบิดลู่ ราวกับนกที่กำลังโผบิน พื้นดอกนั้นหากเพ่งดูดี ๆ แล้วบางต้นจะพบลายตารางที่เรียกว่าลายสมุกอยู่ สามปอยชนิดนี้มีกลิ่นหอมเบา ๆ เท่านั้น เมื่อลองมองมาที่ปากของดอกสามปอยชนิดนี้จะพบว่าที่ปลายสุดของปากจะมีลักษณะ คล้ายกับหางปลา และเมื่อลองไล่ย้อนไปตรงโคนของปากจะพบสีชมพูเรื่อ ๆ อยู่ ดอกของพวกมัน มีทั้งสีน้ำตาลแดง สีแดงสด และสีเขียวหรือเหลือง ซึ่งในศัพท์นักเลี้ยงกล้วยไม้เรียกชนิดที่มีสีเขียวนี้ว่า "เผือก" ก้านช่อของ สามปอยนก นั้นยาว แต่ดอกที่อยู่บนก้านช่อนี้จะห่างจากกันค่อนข้างมาก ในก้านช่อจะประกอบไปด้วยดอกเล็ก ๆ ราว ๆ ๑o-๒o ดอก "ลักษณะที่ดีของ สามปอยนก จะต้องมีดอกที่ถี่ช่อแน่น ก้านดอกสั้นกว่าปรกติ หากเป็นไปได้มีขนาด ดอกที่ใหญ่ด้วยจะยิ่งดีเลิศ” คุณชิเนนทรกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น