กล้วยไม้ดิน Spathoglottis
สปาโตกลอสติส เป็นกล้วยไม้ดินสกุลหนึ่งที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่าง แพร่หลาย กล้วยไม้สกุลนี้มีจำนวนมากกว่า๔๐ชนิด ( species ) ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดีย ศรีลังกา ทางตอนใต้ของจีน มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก กล้วยไม้สกุลนี้มีความสำคัญในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักในวงการกล้วยไม้ทั่ว โลก กล้วยไม้สกุลนี้หลายชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เช่นเหลืองพิสมร( Spathoglottis lobii ) มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก ขาวพิสมร( Spathoglottis pubescens ) มีถิ่นกำเนิดทาง ภาคอิสาน กล้วยไม้ดินใบหมาก( Spathoglottis plicata ) มี ถิ่นกำเนิดทางภาคใต้
กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ปรกติเราเรียกว่า “กล้วยไม้ดิน” แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงสกุลหนึ่งของกล้วยไม้ดินเท่านั้น ยังมีกล้วยไม้ดิน สกุลอื่นอีกหลายชนิด สปาโตกลอสติส มีการเจริญเติบโตแบบ Sympodial มีลำลูกกล้วยป้อม และมีข้อถี่ๆ ลักษณะใบเป็นใบยาวปลายเรียวแหลมโค้ง นอกจากนี้ยังมีรอยจีบ ตามแนวความยาวของใบคล้ายต้นอ่อนของพวกปาล์ม ช่อดอกออกจากฐานของแกนใบก้านช่อยาวและผอมเรียวมีดอกออกเป็นกลุ่มที่ปลายช่อ กลีบดอก มีขนาดเท่าๆ กัน ดอกบานผึ่งผายหูปากทั้งสองค่อนข้างแคบ และโค้งขึ้นทั้งสองข้าง แผ่นปากจะแคบและมีเขี้ยวเล็กๆ ข้างละอันและส่วนบน ของโคนปากมีปุ่มสองปุ่มอยู่คู่กัน บางชนิดที่ปุ่มจะมีขนปกคลุมที่ปลายแผ่นกลีบ ปากผายกว้างออกและบางชนิด ปลายกลีบปากจะเว้า เส้าเกสรจะผอมด้านปลาย จะกว้างและโค้งลงเล็กน้อย เกสรตัวผู้มีสองชุด ชุดละ ๔เม็ด
สปาโตกลอสติสเป็นกล้วยไม้ ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี พบว่าต้นที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรง ในหนึ่งหัวสามารถ ออกดอกได้๑-๓ ก้านช่อดอกก้านช่อยาว เฉลี่ย ๓๐-๑๒๐ ซม. (ในชนิดพันธุ์ใหญ่) มีดอกประมาณ ๓๐ ดอกขึ้นไป ต่อช่อดอกทยอยบานพร้อมกันเป็นชุดๆ ตั้งแต่๓-๑ๆ ดอก และบานติดต่อกันได้นาน๓-๖ เดือน แล้วแต่ชนิดพันธุ์
พันธุ์และลักษณะประจำพันธุ์
Spathoglottis plicata พันธุ์นี้พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย กลีบนอกทั้งสามกลีบดูคล้ายกัน และกางทำมุมอย่างเป็นระเบียบกลีบดอกคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกเล็กน้อยโคนปาก แคบ หูปากทั้งสองข้างแบน และโค้งขึ้นปลายแผ่นปากกว้างส่วนโคนปากมีเขี้ยวสั้นๆข้างละอัน ด้านบน มีติ่งสีเหลืองสองติ่งและมีจุดเล็กๆขึ้นประปราย ที่เขี้ยวทั้งสองข้างมี ขนอ่อนๆ กลีบดอกสีม่วง หูปากทั้งสองข้างมีสีม่วงเข้ม ปุ่มกลางแผ่นปากมี สีเหลือง เนื่องจาก พันธุ์นี้มีความหลากหลายของสีต่างๆมากจึงได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ต่างๆหลายสายพันธุ์ก็คือ
1 . กลุ่มที่ดอกสีม่วงสด
1.1 var. aureicallus ปุ่มกลางปากทั้งสองปุ่มมีสีม่วงสด หูปากทั้งสองข้าง สีม่วงเหลือบด้วยสีเหลือง
1.2 var. moluccana เป็นพันธุ์ที่มีต้นใหญ่กว่าพันธุ์ธรรมดา ปุ่มที่ปากสีเหลืองเข้ม
2 . กลุ่มที่มีดอกสีขาว
2.1 var. penangwhite หรือเรียกว่าขาวปีนัง ดอกสีขาวบริสุทธิ์ หูปากและปุ่มที่ปากทั้งสองข้าง มีสีเหลืองเข้ม
2.2 var. alba ลักษณะดอกคล้ายกับพันธุ์ธรรมดา แต่ดอกมีสีขาว หูปากทั้งสองข้างสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่โคนปาก สีเหลือง
2.3 var. pallidissima แผ่นปากมีสีเหลืองเจือสีม่วงอ่อนๆจน เกือบมองไม่เห็น ปุ่มที่ปากสีเหลือง เข้ม หูปากทั้ง สองข้าง สีเหลืองจางมาก กลีบดอกกลีบในปลายเรียวแหลม
3. กลุ่มสีม่วงอ่อนหรือสีชมพู
3.1 var. vieillardii เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นใหญ่โตมาก ช่อดอกยาว กลีบดอกสีม่วงชมพูจางๆ หูปากทั้งสองข้างสีส้ม ปนน้ำตาล ปุ่มปากทั้งสองข้างสีเหลืองสดมีประจุดเล็กๆสีส้มเข้มแผ่นปากหักงอชัดเจน และปลายปากสีส้ม เข้มเท่ากลีบดอก
3.2 var.purpureolobus ทรงต้นใหญ่โตเหมือนพันธุ์แรกแต่กลีบดอกสีม่วงเข้มกว่า หูปากสีม่วงเข้มปุ่มที่ปากสี เหลืองจาง ปลายแผ่นปากสีม่วง ชมพูเข้ม
3.3 var. pallidilobus ทรงต้นพอๆกับพันธุ์ธรรมดา กลีบนอกกว้างกว่ากลีบคู่ในหูปากทั้งสองข้าง มีสีม่วงชมพู มี แต้มสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่ปากสีเหลืองจาง
๏ Spathoglottis lobii ( เหลืองพิสมร ) เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ดอกมีสีเหลืองก้านช่อดอกยาวประมาณ๓๐-๕๐ ซม. ปากมีสี เหลืองโคนปากมีสีเหลืองอมส้มดูเด่นชัด ทิ้งใบในฤดูแล้ง
๏ Spathoglosttis pubescens ( ขาวพิสมร ) พันธุ์นี้พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกสีขาวกลีบคู่ในมีลักษณะใหญ่กว่ากลีบคู่นอก โคนปากมีปุ่มสีเหลืองเข้ม ปลายปากเว้าเล็กน้อย ทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง
๏ Spathoglottis kimballiana ( เหลืองฟิลิปปินส์ ) ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในแถบบอร์เนียวก้านช่อดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อโค้ง ใบของหน่อที่แตกใหม่สีเขียว อมม่วง ใบแคบและยาวหัวมีขนาดเล็ก
๏ Spathoglottis parsonii ดอกขนาดใหญ่ กลีบนอกสีเหลืออ่อน ปลายกลีบประสีม่วง กลีบคู่ในมีสีม่วงปลายกลีบมีแต้มสีขาวเป็นวง ปากสีม่วงโคนปากสีเหลือง เมื่อดอกตูมมีสีอมม่วง
๏ Spathoglottis vanoverberghii ดอกสีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ กลีบคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกมากดอกมีขนาดเล็ก มักทิ้งใบในฤดูแล้ง
ลักษณะนิสัยของกล้วยไม้ดินสกุล Spathoglottis
1)สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีแสงตลอดวันไปจนถึงร่มแต่จะดีที่สุดเมื่อมีการพรางแสง๓๐-๗๐ %
2)อุณภูมิที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง ๑๕-๒๕ องศาเซลเซียส ถ้าอุณภูมิต่ำมากจะทิ้งใบและพักตัว
3)ชอบวัสดุปลูกระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้พอสมควร มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์
4)ชอบที่โปร่งอากาศถ่ายเทและไม่มีลมโกรกมากนัก
5)ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยละลายช้าเหมาะสมที่สุด การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก จะทำให้ใบไหม้และลำต้นเน่าได
๏ วัสดุปลูก
วัสดุปลูกของกล้วยไม้สกุลนี้ สามารถผสมใช้ได้หลายอย่าง ไม่มีสูตรตายตัวแต่ควรมีหลักคำนึง ดังนี้
1) มีความโปร่ง เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี และอากาศถ่ายเทสะดวก
2) ปราศจากโรคและแมลง
3) หาง่ายราคาถูกมีมากในท้องถิ่น
4) ไม่เป็นพิษกับต้นไม้
5) มีแร่ธาตุอาหารตามสมควร
6) ควรเป็นวัสดุเก่า ผ่านการย่อยสลายมาบ้างแล้ว
สำรับวัสดุที่จะนำมาผสมเป็นเครื่องปลูกนั้นมีหลายชนิด เช่น กาบมะพร้าวสับ,ใบก้ามปู, ใบสน,เปลือกถั่วลิสง, แกลบ, ถ่าน, อิฐ, ขี้เถ้าแกลบ, ดิน, ทรายหยาบ, ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก ฯลฯ
๏ การผสมวัสดุปลูก สามารถ ผสมได้หลายสูตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เช่น สภาพโรงเรือน ภาพดินฟ้าอากาศ การดูแลรักษา หากว่าปลูกในโรงเรือนมีการพรางแสง มีหลังคาพลาสติก มีโต๊ะ สำรับตั้งกระถางควรใช้วัสดุปลูกที่เบา (ไม่ใช้ดิน) ทั้งนี้พอจะยกตัวอย่าง สูตรผสมวัสดุปลูก ดังนี้
สูตรที่ ๑ : : ดินร่วน / กาบมะพร้าวสับ/ แกลบดิบ อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๒ : : ดินร่วน / แกลบดิบ / ปุ๋ยคอก/ เปลือกถั่ว อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๓ : : ใบก้ามปู /ปุ๋ยคอก / เปลือกถั่ว / กาบมะพร้าวสับ อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๔ : : ถ่าน/ เปลือกถั่ว / แกลบดิบ /ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑
สูตรที่ ๕ : : กาบมะพร้าว / ใบสน / ใบก้ามปู / แกลบ / เปลือกถั่ว อัตราส่วน ๒ : ๑ : ๑ : ๑ : ๒
การขยายพันธุ์
การขยายพันธ์โดยการแยกหน่อเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุดช่วงเวลาที่ เหมาะสม ก็คือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน สำรบช่วงฤดูหนาวไม่นิยมทำกันเพราะกล้วยไม้จะทิ้งใบ มีโอกาสตายสูงมาก เนื่องจากกำลังพักตัววิธีการแยกหน่อ
เริ่มจากการนำกล้วยไม้ออกกระถาง เขย่าเบาๆ ให้วัสดุปลูกร่วงหล่นให้มากที่สุด จากนั้นให้ พิจารณาดูลักษณะการแตกหน่อ ของแต่ละลำ ใช้มีดหรือกรรไกร ตัดแยกโดยให้มีหน่อใหม่และลำเก่าติดมาด้วย ๑-๒ ลำจะทำให้ต้นที่แยกออกมาเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็วขึ้น นำหน่อที่แยกไว้มาลงปลูกให้วัสดุปลูกที่เตรียมไว้เสร็จแล้วรดน้ำ ผสมฮอร์โมน เร่งรากแล้วรดตามด้วยยาฆ่าเชื้อรา
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
กล้วยไม้ดินนี้เป็นดอกสมบูรณ์เพศคือมีเกสรตัวและเกสรตัวเมียในดอกเดียวกันใน ธรรมชาติการผสมเกสรเกิดขึ้นจากแมลง การผสมเกสรอาจเป็นการผสมตัวเอง หรือข้ามพันธุ์ก็ได้ หลังการผสมพันธุ์ ดอกจะพัฒนาเป็นฝัก อายุของฝักไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และการดูแลรักษา และชนิดพันธุ์ โดยเฉลี่ยอายุฝักจะอยู่ที่ ๓๐-๖๐ วัน เมื่อฝักแก่ตัวฝักจะแตกออก ภายในจะมีเมล็ดเป็นผงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการเพาะที่ง่ายที่สุดคือ การโรยเมล็ดลง ในกระถางต้นแม่พันธุ์ แต่การเหลือรอดมีน้อย อีกวิธีหนึ่งคือการเพาะลงบนอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ทัน สมัย สะดวกที่สุดคือการตัดฝักส่งให้หน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการรับจ้างเพาะโดย ทั่วไปจะใช้เวลาในการเพาะจนเป็นต้นกล้าในขวดวุ้นประมาณ ๗-๑๐ เดือน ก็สามารถนำกล้วยไม้ขวดออกอนุบาลได้
วิธีการนำต้นกล้วยไม้ออกจากขวดและการปลูก
กล้วยไม้ที่พร้อมออกจากขวด มีข้อสังเกตุได้คือมีใบจริง๒-๔ใบ ปลายใบชนขวดราก เจริญเต็มที่ อาหารในขวดหมดแล้ว
วิธีการมีดังนี้
1) ใช้กะละมังใส่น้ำไว้ประมาณ ครึ่งนึงของความสูงจากขอบ
2) ใช้ของแข็งทุบตรงก้นขวดให้แตกออก
3) เทต้นกล้ากล้วยไม้ลงในตระกร้าพลาสติก( ขนาดเล็กกว่าภาชนะใส่น้ำ)
4) นำตระกร้าไปแช่น้ำในกะละมัง เขย่าเบาๆหรือ หรืออาจใช้น้ำฉีดเบาๆก็ได้ เพื่อล้างวุ้นออกให้หมด
5) นำกล้ากล้วยไม้ที่ล้างวุ้นสะอาดแล้วมาแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา
6) ผึ่งกล้ากล้วยไม้ในที่ร่มพอหมาดๆ
7) ปลูกกล้ากล้วยไม้ในถาดหลุมสำรับเพาะกล้ามีทั้งที่เป็นพลาสติกและโฟม
8) นำกาบมะพร้าวสับที่แช่น้ำไว้จนหมดรสฝาดแล้ว เป็นวัสดุปลูกต้นกล้ากล้วยไม้โดยปลูกหลุมละ๑ ต้น
9) นำต้นกล้าไปไว้ในโรงที่พรางแสง๖๐-๘๐ %
10) ใช้น้ำผสมวิตามินบี๑ รดน้ำทุกวันในอาทิตย์แรก
11) รดน้ำถี่ในช่วงอาทิตย์แรก อาทิตย์ถัดไปรดน้ำ ๒ วันต่อครั้ง
12 ) หลังจากย้ายปลูก ๑๕-๒๐ วันเริ่มให้ปุ๋ยฉีดพ่นแบบเจือจาง
13) หลังจากที่ดูแลอยู่ในถาดหลุมประมาณ๒-๓เดือน ต้นกล้าจะโตพอที่จะแยกลงปลูก ในกระถาง๖ นิ้ว หรือ ๘ นิ้ว
14) เมื่อย้ายปลูกในกระถางปล่อยให้ตั้งตัว๑๐-๑๕ วัน จึงใส่ปุ๋ยละลายช้า สูตร ๑๔-๑๔-๑๔ หรือสูตรเสมออื่นๆ กระถางละ ๑ ช้อนชา
15) รวมระยะเวลาที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นอนุบาลต้นอ่อนจากขวด จนเริ่มออกดอกแรก ใช้เวลาประมาณ ๗-๑๐ เดือน
การดูแลรักษา
การให้น้ำ ควรใช้น้ำสะอาด ระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำก็คือเช้าและเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินทั้งนี้ ก็เพราะว่าจะทำให้ต้นกล้วยไม้แห้งก่อนมืด พื่อลดปัญหาโรค ลำต้นเน่าได้ ควรใช้บัวรดน้ำที่มีฝอยละเอียด เพื่อป้องกันมิให้ใบเสียหาย ในช่วงฤดูร้อนควรฉีดพ่นน้ำที่พื้นโรงเรือน เพื่อ เพิ่มความชื้นและช่วยลดอุณภูมิในโรงเรือนสำรับช่วงฤดูฝนให้สังเกตุวัสดุปลูก ว่า ยังมีความชื้นอยู่หรือไม่ ในช่วงฝนตกมากอาจไม่จำเป็น ต้องรดน้ำเลยก็ได้
การกำจัดวัชพืช สำรับวัสดุปลูกที่ใช้ดินจะมีปัญหามาก กับเรื่องวัชพืชที่อาจติดมา กับปุ๋ยคอก กำจัดโดยใช้มือถอน การใช้แกลบดิบ เปลือกถั่ว หรือ มะพร้าวสับคลุมดิน จะช่วยลด ปัญหานี้ได้
การจัดวางกระถาง ในฤดูฝนความชื้นในอากาศสูง ควร ตั้งกระถางให้ห่างกันเป็นการลดการสะสมความชื้นป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ กล้วยไม้ดิน ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ ควรทำชั้นวางโดยยกให้สูงจากพื้น๓๐-๕๐ ซม. ชั้นวางอาจทำจากไม้ไผ่ตีเป็นซี่ๆ หรือ ตระแกรง เหล็กก็ได้เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีบริเวณก้นกระถาง
การใส่ปุ๋ย
• ไม่ควรใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ที่แยกหน่อใหม่ๆหรือเพิ่งออกจากขวด
• การใช้ปุ๋ยเกร็ดละลาย น้ำฉีดพ่นควรใช้ในอัตราส่วนที่เจือจาง
• การให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สามารถกระทำได้หลังจากย้ายปลูกจนกล้วยไม้ตั้งตัวดีแล้ว
• เมื่อต้นไม้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเร่งดอก เช่น สูตร ๑๓-๒๖-๗
• ควรงดปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดทุกชนิดเช่น ยูเรีย เพื่อ ป้องกันกล้วยไม้ดินเน่าที่โคนได้
• การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกๆ๒-๓ เดือน กระถางละ๑-๒ ช้อนจะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว
โรค และแมลง
- โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา โรคนี้พบว่าพบระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศมีสูง เครื่องปลูกระบายน้ำได้ไม่ดี โรงเรือนไม่มีอากาศถ่ายเท มีการใช้ปุ๋ยที่ไนโตรเจนสูงติดต่อกันเวลานาน การป้องกันกำจัด
1) แยกต้นที่เป็นโรคออกมาทำลายทิ้งเสีย
2) ใช้วัสดุปลูกที่สะอาดและระบายน้ำได้ดี
3) ทำชั้นวางเพื่อให้ลมโกรกและอากาศถ่ายเทพื้นก้นกระถาง
4) หากเป็นไปได้ควรทำโรงเรือนหลังคาพลาสติก
5) ใช้ยาเทอราคลอ ผสมน้ำรดโคนต้น
6) การโรยปูนโดโลไรท์ ที่โคนต้นช่วยป้องกันได้
7) งดการให้น้ำชั่วคราว
- โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อราใบจะเป็นแผลกลมๆ สีน้ำตาล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆ สามารถทำลายดอกได้ด้วย การป้องกันกำจัด
1) ตัดใบและช่อดอกทำลายเสีย
2) ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แบนเลท, ออร์โธไซด์ ไดเทนเอ็ม ทุกๆ ๕-๗ วัน ถ้าพบว่าโรคระบาด
- เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีดำแพร่ระบาดในฤดูร้อน พบการทำลายมากที่ดอกเมื่อเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงจะทำให้ดอกมีสีซีดการป้องกัน กำจัดโดยสารเคมี เช่น พอสซ์ แลนเนท ฯลฯ
- แมลงเต่าทอง ตัวเต็มวัยของเต่าทองจะทำลาย และกัดกินดอกและออกไข่ที่ช่อดอก เมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนมีลักษณะ เหมือนหนอนจะกัดกินทำลายช่อดอก ทำให้เกิดความ เสียหาย การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีเช่น แลนเนท เซฟวิน อโซดริน ฯลฯ
การปรับปรุงพันธุ์
กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่างตามลักษณะของแต่ละพันธุ์ เช่น ทำเป็นไม้กระถาง ( Pot plant ) ใช้จัดสวนประดับสถานที่ ( Land scape ) รวมถึงทำเป็นไม้ตัดดอก ( Cut flower ) ก็สามารถทำได้ การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมตัวใหม่ๆออกมามากมาย ทั้งในสิงค์โปร์ ฮาวาย ฮอลแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย จนถึงขณะนี้มีผู้จดทะเบียนลูกผสมกล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสแล้ว มากกว่า ๖๐ สายพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้มีดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ในดอกเดียวกัน สามารถ ผสมตัวเอง และข้ามต้นพันธุ์ หรืออาจผสมข้ามสกุลก็ได้
วิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ดิน
จากประสบการณ์ ควรจะใช้ช่วงเวลาในตอนเช้า ที่แสงแดดยังไม่จัด ช่วงเวลาประมาณ ๗.๐๐-๙.๐๐ นาฬิกา เลือกดอกที่บานได้๒-๓ วันจากต้นที่มีความสมบูรณ์ และควรเป็นดอกที่อยู่โคนช่อ เพราะดอกที่อยู่ปลายช่อมักจะให้ฝักขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ เมื่อดอกที่จะใช้ เป็นแม่พันธ์ ได้แล้วให้เด็ดกลีบปากออก แล้วเขี่ยเกสรตัวผู้ในดอกออกทิ้ง จากนั้นเลือกนำเกสรที่จะใช้ เป็นพ่อพันธุ์ จากอีกดอกหนึ่งโดยพิจารณาจากสี ฟอร์มดอกฯลฯ เขี่ยเกสรตัวผู้จากดอกที่ต้องการ นำไป ติดไว้ที่แอ่งเกสรตัวเมีย เมื่อตรวจสอบดูแลความเรียบร้อย ทำการติดป้ายชื่อระบุชื่อพ่อ และแม่พันธุ์วันที่ทำการผสม ควรผสมครั้งละ๒-๓ ดอกต่อช่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่นมีแมลงมากัดทำลายหรือฝักแตก อายุการถือฝักจะแตกต่างกันไป เช่นฤดูร้อนฝักจะมีอายุสั้น ฤดูหนาวฝักจะมีอายุนานกว่า ฤดูร้อนเล็กน้อย อายุฝักโดยเฉลี่ยประมาณ ๑ เดือน หรือ ๒ เดือนในบางชนิด ปํยหาที่พบเกี่ยวกับอายุฝักกล้วยไม้ชนิดนี้คือฝักจะแก่และแตกเร็วมาก
เทคนิคการยืดอายุฝัก (ทำให้ฝักแตกช้าลง)
1) งดใส่ปุ๋ย
2) ผสมกล้วยไม้ในช่วงฤดูหนาว
3) เพิ่มความชื้นให้กับฝัก โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดเล็กหุ้มฝักไว้
4) อาจใช้ตู้อบเพิ่มความชื้น เช่นเดียวกับการปลูกบอนสี(ควรระวังเรื่องโรคด้วย)
5) ย้ายต้นมาไว้ในที่ร่มให้ถูกแสงแดดน้อยที่สุด
ในประเทศไทยได้มีการผสมข้ามชนิดของกล้วยไม้สกุลนี้มาช้านานแล้วทำให้เกิดต้นลูกผสมหลากสีสรรที่ส่วนใหญ่มักไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานกล่าวคือไม่สามารถบอกได้ว่าลูกผสมต้นใดเกิดจากพ่อแม่ต้นใด ทำให้เกิดปัญหา ในการเรียกชื่อสายพันธุ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น